บลจ.ไทยพาณิชย์ เสนอขายกองทุนคอมเพล็กซ์รีเทิร์น ต่อเนื่อง IPO 16-22 ธ.ค.นี้ ยังเชื่อมั่นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 16, 2020 15:07 —ThaiPR.net

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าเสนอขายกองทุนคอมเพล็กซ์รีเทิร์นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากจนสามารถระดมทุนในกองทุนประเภทนี้ได้กว่า 18,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ยังเชื่อมั่นในโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จึงได้นำเปิดเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ คอมเพล็กซ์รีเทิร์น 1YM (SCB Complex Return 1YM : SCBCR1YM) ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย กองทุนมีอายุ 1 ปี มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท เปิดขายหน่วยลงทุนครั้งเดียวระหว่างวันที่ 16 - 22 ธันวาคม 2563 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนตามตราสารทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จากการลงทุนในสัญญาวอร์แรนต์ที่อ้างอิงกับ MSCI Emerging Markets Index (USD) พร้อมโอกาสลดความเสี่ยงการขาดทุนของเงินต้นผ่านการเลือกลงทุนในตราสารที่มีคุณภาพ

สำหรับกองทุนนี้มีกลยุทธ์การลงทุนแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 นำเงินต้นประมาณ 98% ของทรัพย์สินกองทุนไปลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับลงทุนได้ขึ้นไป เมื่อครบกำหนดอายุกองทุนจะได้รับเงินลงทุนคืนพร้อมโอกาสรับผลตอบแทนซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับเงินต้น การลงทุนส่วนนี้มีความผันผวนต่ำช่วยลดความเสี่ยงการขาดทุนเงินต้นได้ ซึ่งกองทุนจะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน

ส่วนที่ 2 ประมาณ 2% ของทรัพย์สินกองทุน จะนำไปลงทุนในสัญญาวอร์แรนต์ที่อิงกับผลตอบแทนของ MSCI Emerging Markets Index (USD) เน้นสร้างผลตอบแทนตามผลการดำเนินงานของตราสารทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ผ่าน MSCI Emerging Markets Index (USD) ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งดัชนีประกอบด้วยหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางที่จดทะเบียนซื้อขายในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จำนวน 26 ประเทศ ครอบคลุม 1,390 หุ้น หรือประมาณ 85% ของตลาดในแต่ละประเทศ โดยคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (free float-adjusted market capitalization) สำหรับสัญญาวอแรนต์ดังกล่าวมีลักษณะการจ่ายผลตอบแทนแบบ Shark fin ซึ่งเป็นส่วนสร้างผลตอบให้กับกองทุน โดยแบ่งการจ่ายผลตอบแทนเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่ 1 จ่ายผลตอบแทน 40% ของผลตอบแทนของดัชนี เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นระหว่าง 0 ถึง 15% กรณีที่ 2 จ่ายผลตอบแทนชดเชยประมาณ 0.25% เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นเกิน 15% ระหว่างอายุกองทุน และกรณีที่ 3 ไม่จ่ายผลตอบแทนหากดัชนีปรับตัวลงต่ำกว่าราคา ณ วันลงทุนเมื่อครบกำหนดอายุกองทุน โดย MSCI Emerging Markets Index (USD) มีผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 10.20% ต่อปี ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 18.43% ต่อปี ย้อนหลัง 3 ปีอยู่ที่ 4.92% ต่อปี และย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 10.72% ต่อปี (ที่มา: MSCI Emerging Markets Index (USD) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563)

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า จากข่าวดีเรื่องความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้วัคซีนของ Pfizer-BioNtech ในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากมีประสิทธิภาพผ่านเกณฑ์และคาดว่ามีโอกาสสามารถเริ่มแจกจ่ายได้ภายในปลายปีนี้ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ในระดับที่สูง แต่นักลงทุนให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามากกว่า นับเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นโดยรวมในระยะนี้ ถึงแม้ว่ากลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ยังมีความเสี่ยงด้านความสัมพันธ์ทางการค้าอยู่ รวมถึงความผันผวนในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้และยุโรปตะวันออกจากนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดที่เริ่มกลับมาอีกครั้งและราคาน้ำมันที่ยังมีความผันผวนสูงอยู่ ดังนั้นกองทุน SCBCR1YM ที่มีรูปแบบการลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนตามผลการดำเนินงานของตราสารทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ประกอบกับมีโอกาสได้รับผลตอบแทนชดเชยในระดับที่น่าสนใจหากตราสารทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ปรับตัวขึ้นมากกว่าที่คาด จึงเป็นกองทุนที่ตอบโจทย์การลงทุนในสภาวะเช่นนี้ได้เป็นอย่างดี

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง และควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการ ได้ที่ SCBAM Client Relations โทร.02-777-7777 กด 0 กด 6 หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย หรือ https://scbam.link/tq6


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ