"ปรีชา นันท์นฤมิต" CEO-EFORL EFORL เผยคณะกรรมการบริษัทมีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท เพื่อจัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) จำนวน 7,758,620,690 หุ้น ในราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ราคา 0.0348 บาท มูลค่ารวม 270 ล้านบาท เผยนำเงินขยายธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ เชื่อยังมีทิศทางเติบโตและความต้องการสูง ระบุเตรียมนำเสนอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564
นายปรีชา นันท์นฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติให้บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 7,758.62 ล้านหุ้น ในมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.075 บาท โดยออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) โดยนำเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนดังกล่าวจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากบริษัทได้รับคำสั่งซื้อเครื่องมือทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก หากเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินจะทำให้บริษัทมีโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในระยะยาว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้นด้วยเช่นกัน
ประธานเจ้าหน้าบริหาร กล่าวต่อว่า แนวโน้มธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ยังคงมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง แม้ภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวโดยเฉพาะธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัท โดยภายในเดือนธันวาคมนี้ บริษัทเตรียมจะส่งมอบเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล มีมูลค่ารวม 400 -450 ล้านบาท ซึ่งจะสนับสนุนให้ผลงานในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
นอกจากนี้ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าประมูลงานกับหน่วยงานโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างแหล่งรายได้เพิ่ม ช่วยสนับสนุนการเติบโตในอนาคตให้มีความยั่งยืน นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสขยายการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ โดยมีแผนจะร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศ - ต่างประเทศ เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตในอนาคต
ปี 2564 บริษัทมีเป้าหมายรายได้เติบโต 15% จากปีก่อน จากการพัฒนาประสิทธิภาพในการขาย และขยายตลาดในส่วนของฐานลูกค้าเดิม และกลุ่มลูกค้าใหม่ รวมทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งธุรกิจดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีมูลค่าสูง มีการเติบโตได้ ทั้งยังเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการเครื่องมือทางการแพทย์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย