"อนุทิน" เปิดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ย้ำบทเรียนความสำเร็จคุมโควิด-19 ของไทย เกิดจากบูรณาการทุกภาคส่วน ชี้สงครามโรคครั้งนี้ยังไม่ยุติ จำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคมต่อไป ด้านผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ชี้ กระบวนการสมัชชาสุขภาพไทย เป็นกลไกที่ทรงพลัง พร้อมบันทึกเป็น "ผลงานเด่น" ในคู่มือ WHO เผยแพร่ทั่วโลก
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ได้จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 เป็นวันที่สอง ณ หอประชุมใหญ่ สำนักงาน TOT ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ภายใต้ประเด็นหลัก (ธีม) "พลังพลเมืองตื่นรู้ ? สู้วิกฤตสุขภาพ" โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมมากกว่า 2,000 คน จากทั้งที่เดินทางมาเข้าร่วมภายในงาน และประชุมผ่านระบบออนไลน์ที่เชื่อมต่อทุกจังหวัด
สำหรับงานวันที่สองเป็นการดำเนินการต่อจากวันแรก ภายหลังสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมง เพื่อถกแถลงและปรับแก้ร่างมติสมัชชาสุขภาพฯ อย่างรอบด้านครบทั้ง 2 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต 2. การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกรณีโรคระบาดใหญ่ ก่อนจะให้ความเห็นชอบร่วมกันเป็นฉันทมติโดยที่ไม่มีผู้คัดค้านแม้แต่รายเดียว โดยขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) จะนำมติสมัชชาสุขภาพฯ เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ทั้งนี้ สาระสำคัญของงานสมัชชาสุขภาพฯ วันที่สอง นอกจากเวทีเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "ก้าวผ่านวิกฤตโควิด?สู่ชีวิตใหม่และการจัดการใหม่" ที่มีนายสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ดำเนินการเสวนาแล้ว ยังมีการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "พลังพลเมืองตื่นรู้ ? สู้วิกฤตสุขภาพ" โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนเยาวชนจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา และการปาฐกถาพิเศษผ่านทางออนไลน์ของนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO)
นายอนุทิน กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า โควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี โดยทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อกว่า 73 ล้านคน แต่ประเทศไทยพบผู้ป่วยประมาณ 4,200 คนเท่านั้น และหากนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นมา ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพียง 18 คน ขณะที่อีก 1,000 คน ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ แม้ในช่วงแรกประเทศไทยจะถูกจับตามองว่าอาจเป็นศูนย์กลางการระบาดต่อจากประเทศจีน หากแต่ด้วยมาตรการที่จริงจังของรัฐ ศักยภาพของระบบสาธารณสุขและความร่วมมือของคนไทย ทำให้ประเทศยืนหยัดต่อสู้กับโควิด-19 มาได้จนได้รับคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาชาติ ความสำเร็จนี้เกิดจากความสามารถของแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน แสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างมีเอกภาพ รวดเร็วและมีคุณภาพ ตั้งแต่หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ลงไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. และภาคประชาสังคม อย่างไรก็ตามยังต้องผนึกกำลังกันให้เข้มแข็งมากขึ้น เพราะต่อไปในอนาคตจะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคหลายประการ เพื่อให้การประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจดำเนินไปได้
"ผมขอเน้นย้ำว่าการดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ และการยับยั้งควบคุมโรคจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบสาธารณสุขนั้น ไม่ใช่ความสูญเสียหรือความสิ้นเปลือง แต่เป็นการลงทุนที่สำคัญในระยะยาวเพื่อพัฒนาความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และ 'สงครามโรคครั้งนี้ ยังไม่ยุติ' การปรับตัวใช้ชีวิตแบบ New Normal จึงเป็นสิ่งจำเป็น การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ลดการอยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมากเป็นเวลานาน จะเป็นวัคซีนทางสังคมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ได้ เช่นเดียวกับเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในครั้งนี้ ที่มีการปรับรูปแบบเป็นการประชุมออนไลน์แบบผสมผสาน โดยจัดเวทีประชุมในกรุงเทพฯ คู่ขนานกับการประชุมออนไลน์กับพื้นที่ทุกจังหวัด เพื่อลดการรวมคนจำนวนมาก ลดการเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน และคำนึงถึงมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม โดยมุ่งหวังให้เกิดกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในสังคมไทยที่ได้รับการยอมรับร่วมกันของทุกภาคส่วน" นายอนุทิน กล่าว
สอดคล้องกับ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ที่ปาฐกถาผ่านระบบออนไลน์ ชื่นชมประเทศไทยที่ผนึกกำลังทั้งภาครัฐ และภาคสังคม รวมทั้งมีมาตรการที่รอบด้าน ทำให้สามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้เป็นที่น่ายกย่อง และยังกล่าวถึงสมัชชาสุขภาพของไทย ว่าเป็นตัวอย่างที่ทรงพลัง ทำให้เกิดกลไกการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมในระดับชาติ ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อมั่นและไว้ใจกันระหว่างภาครัฐกับประชาชน ความเชื่อมั่นและความเนื้อเชื่อใจกันนี้เอง เป็นสิ่งจำเป็นในช่วงวิกฤต
"เรื่องราวของสมัชชาสุขภาพของไทยถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในผลงานเด่นที่จะบันทึกลงในคู่มือขององค์การอนามัยโลก เราตัดสินใจโดยไม่ลังเลที่จะนำเสนอเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากภาคีเครือข่ายหลากหลาย ผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะเผยแพร่ไปทั่วโลกในเร็วๆ นี้" ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าว
ด้าน น.ส.ไครียะห์ ตัวแทนเยาวชนจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า อำเภอจะนะ เป็นเมืองนกเขาชวาเสียง มีการแข่งขันระดับอาเซียน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีแหล่งเกษตรอินทรีย์ ขณะที่ทะเลก็มีความอุดมสมบูรณ์ จนกระทั่งเกิดโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และพบว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ชาวบ้านจึงได้ลุกขึ้นมาจัดทำข้อมูลทรัพยากรในพื้นที่ด้วยตัวเองและพบว่าทะเลจะนะมีสัตว์น้ำมากกว่า 157 ชนิด โดยข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยอมลงนามในบันทึกข้อตกลงยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร ให้ทะเลจะนะเป็นแหล่งผลิตอาหารของคนสงขลาและอาเซียน และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้ติดตามสภาพชายหาดและเก็บข้อมูลทุกเดือน เพื่อใช้ต่อรองในกรณีที่มีโครงการของรัฐหรือเอกชนเข้ามาบุกรุก ขณะเดียวกันได้ทำโครงการเกี่ยวกับการศึกษาภูมิปัญญา ซึ่งภายใน 1 ปี พบว่ามีถึง 17 ภูมิปัญญา นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมอนุรักษ์ มีการฝึกทักษะ มีการทำสื่อต่างๆ ทั้งหมดทำให้เยาวชนมีความรักบ้านเกิด รักถิ่นฐาน และรักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนเป็นตำนานการต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและทะเลของชาวจะนะในทุกวันนี้