"สุชาติ" รมว.แรงงาน มอบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแสดงความมุ่งมั่นรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน โดยนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLP) ไปใช้ เพื่อแสดงให้นานาชาติรับรู้ว่า ผู้ประกอบการไทยมีจริยธรรมในการจ้างแรงงาน สร้างความเข้มแข็งและจุดเด่นทางธุรกิจ
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความมุ่งหวังที่จะยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการไทย โดยการแสดงออกถึงความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงาน เพื่อให้นานาชาติรับรู้ว่าผู้ประกอบการไทยมีจริยธรรมในการจ้างแรงงาน เพราะปัจจุบันในเวทีการค้าโลกให้ความสำคัญอย่างมาก ในเรื่องของการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ ไม่มีการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และยังเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ประเทศคู่ค้านำมาพิจารณาในการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของสถานประกอบกิจการไทยและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น จึงได้ สั่งการให้ กสร. มุ่งส่งเสริมให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการ นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLP) ไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงาน เพราะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสภาพการทำงานที่เป็นธรรม ป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในทุกรูปแบบ อันจะทำให้สถานประกอบกิจการไทยมีความเข้มแข็ง และสร้างจุดเด่นทางธุรกิจได้
อธิบดี กสร. กล่าวเสริมว่า แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices) หรือที่เรียกว่า GLP นั้น เป็นแนวทางพื้นฐานเบื้องต้นก่อนเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2563) ในการปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานด้วยความสมัครใจ เพื่อให้สถานประกอบกิจการมีการจ้างแรงงานสอดคล้องกับกฎหมายเทียบได้กับมาตรฐานแรงงานสากล โดยใช้หลักการ 4 ไม่ 6 มี มาเป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่ ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก, ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ, ไม่มีการเลือกปฏิบัติ, ไม่มีการค้ามนุษย์ และ มีระบบจัดการและการบริหารแรงงาน, มีเสรีภาพในการสมาคม, มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายจ้าง, มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย, มีการจัดการสุขอนามัยและของเสีย และมีสวัสดิการที่เหมาะสม ซึ่งสามารถทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน ทั้งนี้ หากสถานประกอบกิจการใดสนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 0 22468370, 0 2246 8294 หรือโทร.1506 กด 3 หรือ 1546 http://tls.labour.go.th