- เอ็นไอเอร่วมเอกชนไทย อวด 2 นวัตกรรม "หน้ากากอนามัยผลิตจากเทฟลอน - ชุดหน้ากาก PAPR สำหรับบุคลากรทางการแพทย์" ช่วยคนไทยเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์อย่างเท่าเทียม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับบริษัท พรีมา เลเซอร์ เทอร์ราพี จำกัด ส่งต่อ "P-Mask" หน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้ และชุดหน้ากาก PAPR ให้กับสถานพยาบาลในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการทางการแพทย์ที่มีผู้เข้ารับการรักษามากที่สุดในประเทศไทย เพื่อมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่มาใช้บริการสถานพยาบาลในเครือมหาวิทยาลัยมหิดล กรมการแพทย์ และกรมการแพทย์ทหารบก ทดแทนการใช้หน้ากากอนามัยชนิดใช้ครั้งเดียว ซึ่งนอกจากคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยในการกรองเชื้อไวรัสโคโรน่า 19 แล้วยังสามารถป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ได้ดี และถูกออกแบบให้หายใจได้สะดวกขณะสวมใส่
ผศ.ดร. ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวง อว. กล่าวว่า "อว. ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 และปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยองค์ความรู้ เครือข่าย และความร่วมมือจากพันธมิตรทั้งหน่วยงานภายในการกำกับของกระทรวงฯ ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางการแก้ไข ป้องกัน และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโอกาสการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์กระแสสังคมในช่วงนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการปรับตัวของภาคเอกชน ซึ่งผลงานนวัตกรรม "หน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้" ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากวิกฤตที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ลดปริมาณขยะมหาศาลจากการทิ้งหน้ากากอนามัยชนิดใช้ครั้งเดียว อีกทั้งยังสามารถนำมาต่อยอดเป็น "นวัตกรรมหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ หรือ ชุดหน้ากาก PAPR" สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองในการผลิตวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล แสดงถึงศักยภาพความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมของคนไทยว่าไม่ด้อยไปกว่าชาติใดในโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น "ประเทศแห่งนวัตกรรม" ต่อไปในอนาคต"
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า "การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ NIA มีการผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน เกือบ 20 แห่ง ที่มีขีดความสามารถในการให้บริการสุขภาพ และการวิจัยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ระดับสูง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน และสังคม เสมือนของขวัญที่จะส่งมอบให้กับคนไทยในช่วงปีใหม่นี้ โดยเฉพาะนวัตกรรมการแพทย์วิถีใหม่ นวัตกรรมการแพทย์ทางไกล กลไกการส่งเสริมสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย รวมถึงนวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม และรองรับความเป็นสังคมเมือง"
"ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด - 19 ที่ผ่านมา NIA ได้สนับสนุนเงินทุนให้กับบริษัท พรีมา เลเซอร์ เทอร์ราพี จำกัด ในวงเงิน 2.895 ล้านบาท เพื่อพัฒนานวัตกรรม "หน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้" ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ หรือ ชุดหน้ากาก PAPR สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย โดยปัจจุบันดำเนินโครงการเสร็จสิ้นเรียบร้อย พร้อมส่งต่อสู่การใช้จริงในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน จึงส่งมอบ "หน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้" จำนวน 6,000 ชิ้น และ "ชุด PAPR" จำนวน 250 ชุด ให้กับสถานพยาบาลภายในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการทางการแพทย์ที่มีผู้เข้ารับการรักษามากที่สุดในประเทศไทย โดยจัดสรรให้กับกรมการแพทย์ กรมแพทย์ทหารบก และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อกระจายให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปหรือผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการในสถานพยาบาลต่าง ๆ" ดร. พันธุ์อาจ กล่าว
ด้าน ดร.เจริญ ตั้งตรงเบญจศีล กรรมการบริษัท พรีมา เลเซอร์ เทอร์ราพี จำกัด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำหน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้คือ ต้องการลดขยะพลาสติกที่มาจากการใช้หน้ากากอนามัย เพราะที่ผ่านมามีขยะพลาสติกที่เกิดจากการใช้แล้วทิ้งเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโควิด-19 และการเข้าถึงหน้ากากอนามัยที่เป็นไปอย่างลำบาก โดยบริษัทได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก NIA เพื่อดำเนินการผลิตหน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย
- P-Mask นวัตกรรมหน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้ ประกอบด้วยฟิลเตอร์ที่ผลิตจากเทฟลอน (PTFE) ซึ่งมีรูพรุนขนาดเล็กสามารถกรองไวรัสและฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างยาวนาน สามารถทำความสะอาดได้ นอกจากนี้ ผ้าด้านในยังใช้เส้นใยที่เคลือบซิลเวอร์นาโน ซึ่งจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังและละอองน้ำลาย จึงไม่เกิดกลิ่นเหม็นจากการใช้งาน สำหรับการทดลองที่ผ่านมาพบว่าหน้ากากผ้าสามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กตั้งแต่ 0.1 -0.3 ไมครอนได้มากถึง 95% และสามารถป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.5 ไมครอนได้ถึง 99% โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ นอกจากนี้ เมื่อสวมใส่แล้วช่วยให้หายใจสะดวก ไม่ทำให้ใบหน้าระคายเคือง สามารถถอดแยกเพื่อทำการซักล้างได้ มีอายุการใช้งานที่นานกว่าหน้ากากผ้าทั่วไป
- นวัตกรรมหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ (Powered Air Purifying respirator : PAPR) มีลักษณะเป็นหมวกคลุมศีรษะและปั๊มลมช่วยดันลม ใช้ฟิลเตอร์เป็นเทฟลอนเช่นเดียวกัน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวป้องกันเฉพาะส่วนคอถึงศีรษะเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ร่วมกับชุด PPE-Personal Protective Equipment โดยปั๊มลมด้านหลังนอกจากจะช่วยในเรื่องการหายใจแล้วยังสามารถกรองเชื้อไวรัสได้อีกด้วย
ดร.เจริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการช่วยเหลือสังคมนั้นเป็นสิ่งที่บริษัทได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตทั้งสองนวัตกรรมนี้จะยังคงพัฒนาและส่งต่อไปสู่สังคม ทั้งในภาคประชาชนและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนไทยเป็นไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของหน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้ บริษัทจะมีการปรับราคาจำหน่ายให้เหมาะสม และกระจายสู่ช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยยังจะมุ่งพัฒนานวัตกรรมอื่น ๆ เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ และวิถีชีวิตแบบ New Normal ให้กับคนไทยในอนาคตต่อไป