FutureTales Lab by MQDC จับมือกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ยกระดับ "ปุณณวิถี" เทียบชั้น "ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค" ระดับโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday December 22, 2020 09:57 —ThaiPR.net

นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (คนที่ 4 นับจากซ้าย) บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยว่า "MQDC เล็งเห็นถึงความสำคัญเทรนด์ใหม่ๆ และการคาดการณ์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต เพื่อให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชนสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาและออกแบบแนวนโยบาย แผนการรับมือเชิงรุก ตลอดจนการพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมถึงผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของคนในอนาคต บนพื้นฐานของกลยุทธ์ขององค์กร 'For All Well-Being' หรือ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับสรรพสิ่งบนโลกอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของจัดตั้งศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา "ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ" (FutureTales Lab by MQDC) ที่จะมีส่วนสำคัญในการเติมเต็มให้ "ย่านปุณณวิถี" กลายเป็น 'ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค' ระดับโลก เทียบเท่าในต่างประเทศ

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) รู้สึกภูมิใจที่ได้แป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือพัฒนางานวิจัยด้านอนาคตศาสตร์ และให้ความสำคัญกับการวิจัย นวัตกรรม และการมองอนาคตอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ทำการศึกษาและวิจัยอนาคตศาสตร์ โดยมีหน้าที่หลักคือศึกษางานวิจัย และสถานการณ์แนวโน้มในอดีต ปัจจุบัน และนำมาวิเคราะห์ คาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในแง่ของสังคม ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม เป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ที่มีต่อโลกในอนาคต พร้อมสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่น่าสนใจกับนักอนาคตศาสตร์ทั่วโลก เตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นร่วมกันได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เพื่อนำมาพัฒนาพร้อมบูรณาการนำเครื่องมือด้านการมองอนาคต (Foresight) มาใช้ในการออกแบบอนาคตรวมทั้งศึกษาความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการศึกษากลุ่มคน Generation Z ที่เป็นกุญแจสำคัญและมีบทบาทสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรหรือภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญและทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ เพื่อให้เกิดการปรับตัว หรือการเลือกใช้จุดเด่น และศักยภาพของคนกลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสม

นายองศา จรรยาประเสริฐ ผู้อำนวยการ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า MQDC มีความตั้งใจที่จะลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ บนถนนสุขุมวิทย่านนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เป็นย่านนวัตกรรมระดับโลก โดย MQDC ได้มีการศึกษาวิจัยร่วมกับ FutureTales Lab by MQDC เพื่อร่วมคิดและออกแบบ (co-creation) กับทั้งบริษัทสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงชุมชนท้องถิ่นในย่านปุณณวิถี โดย MQDC จะสร้างให้ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคเป็นศูนย์รวมของหัวกะทิด้านวงการเทคโนโลยี (tech talents) ทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยให้พื้นที่ในย่านนวัตกรรมดังกล่าวเป็นเสมือนห้องปฏิบัติการ (living lab) ให้สามารถทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ในบริบทสังคมของจริง นอกจากนี้ MQDC ยังยึดถือหลักการ Goodwill ในการพัฒนาทุกโครงการ นั่นคือ เวลาเราเข้าไปพัฒนาในย่านไหน คนได้ย่านนั้นต้องได้รับประโยชน์และเติบโตไปกับเราด้วย MQDC เชื่อว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวในตัวเมืองไม่จำเป็นต้องเกิดจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ภาคเอกชนก็สามารถมีส่วนร่วมผ่านแนวคิด POPOS (Privately-Owned Public Open Space) ได้เช่นกัน จึงอยากเชิญชวนทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน มามีร่วมกันผลักดันพัฒนาย่านนี้เป็นย่านนวัตกรรมที่น่าอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมของประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยทางอว.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ขณะนี้ภาคเอกชนให้ความสนใจ และเล็งเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ อย่างเช่นการทำงานของศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา หรือฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ซึ่งเป็นศูนย์ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ  และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อทำการรวบรวมข้อมูล-สถิติที่เคยเกิดขึ้นกับสังคม และแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผน และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งทรู ดิจิทัล พาร์ค ที่ขณะนี้กำลังพัฒนาพื้นที่ปุณณวิถีร่วมกับ NIA ให้เป็นย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค เพื่อสร้างพื้นที่ให้แก่สตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม การทำเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งนี้ เชื่อว่าจุดเด่นสำคัญที่ควรผสมผสานเข้าไปกับการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือ "อัตลักษณ์" เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงกับบริบทความเป็นจริงของประเทศ รวมถึงเผยแพร่มุมมองความเป็นไทยให้ทั้งในและต่างประเทศได้รับรู้

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า การเกิดขึ้นของย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคในพื้นที่ปุณณวิถี นอกจากจะเป็นประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการทำธุรกิจนวัตกรรม การลงทุน รวมถึงโอกาสที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดิจิทัล การลงทุนของต่างชาติ สถาบันเฉพาะทางด้านดิจิทัล และความเป็นอยู่และสังคมที่มีความอัจฉริยะมากขึ้น ทั้งนี้ NIA ได้ร่วมมือกับเครือข่ายในการพัฒนาย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากการดำเนินการที่ผ่านมาส่งผลให้สามารถจัดตั้งศูนย์บริการผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (District C-One-stop Service Center) ซึ่งเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือ สตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการจัดตั้งและขยายธุรกิจ โดยการให้คำปรึกษาผ่านองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน และส่งเสริมให้สตาร์ทอัพนำ Deep Tech เข้ามาใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้แก่นวัตกรรมที่ดำเนินการอยู่ โดยในปี 2564 นี้ NIA และศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ จะร่วมมือพัฒนางานวิจัยด้านอนาคตศาสตร์ในอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมและวิถีชีวิต ที่เป็นรากฐานสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นของ "นวัตกรรม" เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมในหมู่นักอนาคตศาสตร์และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ