ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 3 จังหวัด เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Tuesday December 22, 2020 11:25 —ThaiPR.net

22 ธ.ค. 63 เวลา 09.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย ในพื้นที่ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมและสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน (22 ธันวาคม 2563 เวลา 06.00 น.) รวม 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา รวม 23 อำเภอ 137 ตำบล 645 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 35,714 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย (ยะลา 1 ราย นราธิวาส 2 ราย) จุดอพยพ 7 จุด อพยพประชาชน 130 ครัวเรือน 421 คน (นราธิวาส 5 จุด ยะลา 2 จุด) โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 3 จังหวัด รวม 24 อำเภอ 137 ตำบล 645 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 35,714 ครัวเรือน เสียชีวิต 2 ราย (นราธิวาส) ดังนี้ นราธิวาส น้ำท่วมในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแว้ง อำเภอศรีสาคร อำเภอระแงะ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอสุไหงปาดี อำเภอบาเจาะ อำเภอจะแนะ อำเภอสุไหง - โกลก อำเภอสุคิริน อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอรือเสาะ อำเภอยี่งอ และอำเภอตากใบ รวม 72 ตำบล 426 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 28,856 ครัวเรือน ปัตตานี น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอมายอ อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอสายบุรี แลอำเภอเมืองปัตตานี รวม 34 ตำบล 104 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,304 ครัวเรือน ยะลา น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอรามัน และอำเภอยะหา รวม 31 ตำบล 115 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,554 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 1 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ดินสไลด์ปิดทับบ้านเรือนประชาชนในอำเภอเบตง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน โดยระดมเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ เข้าพื้นที่เพื่อเร่งระบายน้ำ และให้การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้นแล้ว พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดย ปภ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่ และประเมินความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง ประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ