มหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายหลักมุ่งสนับสนุนชุมชน ซึ่งการให้ความสำคัญแต่เพียงการจัดอันดับมหาวิทยาลัย หรือ Ranking อย่างเดียว ไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องมุ่งประโยชน์เพื่อสังคมและประชาชนด้วย ซึ่งด้วยผลงานที่มหาวิทยาลัยมุ่งวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรม นอกจากจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น ผลลัพธ์สุดท้ายควรทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนของมหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นได้มีการจัดตั้งกลุ่มภารกิจวิจัยและพัฒนาชุมชน และเข้าสู่งานยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ชื่อ "พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม" ในปี 2561 โดยปัจจุบันในปี 2563 มีโครงการเพื่อชุมชนและสังคมจากส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดลประมาณ 143 โครงการอยู่ในระบบฐานข้อมูล Mahidol Social Engagement (MSE) พร้อมด้วยเครือข่ายครอบคลุมชุมชนในพื้นที่พุทธมณฑล บางกอกน้อย พญาไท กาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พบว่า "ชุมชนโพธิ์ทอง" ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหา ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม จากความเป็นอยู่ที่แออัดด้วยจำนวนประชากร 120 ครัวเรือน หรือประมาณ 500 คน ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤต Covid-19 มีทั้งผู้ว่างงาน ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กอ่อนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน โดย งานพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม ได้ส่งทีมงานลงพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยร่วมกับแกนนำชุมชนโพธิ์ทอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ เทศบาลตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล สาธารณสุขอำเภอพุทธมณฑล และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ดำเนินโครงการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
"ที่ผ่านมา งานพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม ได้มอบปัจจัยช่วยเหลือตามความต้องการเร่งด่วนจากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนโพธิ์ทองในเบื้องต้น อาทิ นมผงสำหรับเด็กอ่อน ผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน เจลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งสิ่งของอุปโภคบริโภค ฯลฯ และต่อไปจะขยายผลเป็นโครงการระยะยาว นำองค์ความรู้ไปต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโพธิ์ทองอย่างเป็นระบบ จากการระดมสหสาขาวิชาลงพื้นที่ไปช่วยแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน โดยจะมุ่งพัฒนาอาชีพให้ชุมชนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ปลูกฝังการออมเงินเพื่อการใช้จ่ายยามฉุกเฉิน และพัฒนาเด็กเล็กในชุมชนให้มีทักษะเพื่อความอยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนแปลง อาทิ ทักษะพื้นฐานทางสมอง หรือ EF (Executive Functions) และทักษะความปลอดภัยต่างๆ ฯลฯ จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องก่อให้เกิด "นวัตกรรมสังคม" คือ "การจัดทำแผนที่สุขภาวะชุมชน" ซึ่งจะนำไปใช้เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืนต่อไป โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้วางแผนจะใช้โมเดลจากการพัฒนาชุมชนโพธิ์ทองเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป" รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจุฑามณี สุทธิสีสังข์ กล่าว
นอกจากการพัฒนาชุมชนโพธิ์ทองเพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านสุขภาพ ได้ร่วมออกหน่วยบริการทันตกรรมชุมชน โดยความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร คณะทันตแพทยศาสตร์ และ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์ ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์คนปัจจุบัน ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร ได้เป็นแกนนำ "โครงการดูแลผู้ป่วยติดเตียงแบบต่อเนื่องโดยสหสาขาวิชาชีพ" ซึ่งเป็นโครงการเชิงรุกที่นำทีมคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ออกหน่วยดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยติดเตียงผู้ด้อยโอกาสในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกล โดยมองว่า สุขภาพช่องปากมีผลต่อสุขภาพกาย และใจ และผู้ป่วยติดเตียงถือเป็นความจำเป็นที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากไม่สามารถเคลื่อนตัวมาเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลได้ด้วยตัวเอง
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์ ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ กล่าวต่อไปว่า การออกหน่วยลงพื้นที่บริการชุมชนดังกล่าวเป็นการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพ เพื่อเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงตามบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยทางทีมทันตกรรมได้แนะนำผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง (Caregivers) ให้ทราบถึงวิธีทำความสะอาดช่องปากที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วย ทั้งสาธิต และมอบผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก "M-Dent" ที่ผลิตโดย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในกรณีเร่งด่วนจะส่งผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธรต่อไป โดยในปี 2562 ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยมาแล้วจำนวน 69 ราย และในปี 2563 จำนวน 62 ราย และจะดำเนินโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ทันตแพทย์หญิงมณฑา เลาหศรีสกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร ฝ่ายโครงการพิเศษและวิเทศสัมพันธ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า จากการออกหน่วยทันตกรรมลงพื้นที่ชุมชนเพื่อดูแลช่องปากผู้ป่วยติดเตียงอย่างต่อเนื่อง เห็นผลที่เปลี่ยนแปลง คือ ผู้ป่วยติดเตียงดูมีความสุขขึ้น จากการมีสุขภาพในช่องปากที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยไม่มีกลิ่นปาก ไม่พบฝ้าขาวตามลิ้นและกระพุ้งแก้ม รวมทั้งไม่พบเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟัน ซึ่งในอนาคต "โครงการดูแลผู้ป่วยติดเตียงแบบต่อเนื่องโดยสหสาขาวิชาชีพ" จะให้การรักษาในเบื้องต้นทางช่องปากสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน และถอนฟัน ที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก โดยในการนี้มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรมแบบเคลื่อนที่ จึงได้มีการระดมทุนผ่านมูลนิธิคณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล (กองทุนโรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร) ผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคเงินผ่านบัญชีธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 046-7-00099-8 สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 098-825-3855 Line ID: dtfoudation