นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รอบใหม่ ซึ่งแหล่งแพร่กระจายโรคมาจากตลาดกุ้ง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและได้ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่นๆ สร้างความตื่นตระหนกให้กับพี่น้องประชาชนถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยในการบริโภคสัตว์น้ำ อีกทั้งยังกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ รวมถึงการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวประมงเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค กรมประมงจึงขอย้ำชัดอีกครั้งว่า ยังไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรน่า 2019 อยู่ในตัวของสัตว์น้ำแต่อย่างใด โดยสัตว์น้ำเป็นสัตว์เลือดเย็นไม่มีปอดแต่ใช้เหงือกในการหายใจ และยังมีความแตกต่างของผิวเซลล์ ซึ่งปลามีโครงสร้างไม่เหมือนคนทั้งหมด ทำให้โอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์เข้าสู่เซลล์ของสัตว์น้ำเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานการเกิดโรคจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกันนี้ อาทิ โรคซาร์ส (SARS) และเมอร์ส (MERS) ในสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เลือดเย็นมาก่อน (อ้างอิงข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ นายสัตว์แพทย์ ดร. วิน สุรเชษฐพงษ์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
แต่อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดสุขอนามัยที่ดี ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานและสัมผัสสัตว์น้ำ จึงขอให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและผ่านการผลิตที่มีมาตรฐาน เน้นให้ความใส่ใจในเรื่องสุขอนามัยเป็นสำคัญ โดยไม่ควรรับประทานอาหารสัตว์น้ำที่ดิบหรือไม่สุก และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสัตว์น้ำโดยตรง อาจใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบหรือตัก และล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำเป็นอย่างดีก่อนทำการปรุงอาหารทุกครั้ง ซึ่งเชื้อไวรัสโควิด-19 จะถูกทำลายด้วยความร้อนที่ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 30 นาที และหากความร้อนสูงขึ้นระยะเวลาที่เชื้อถูกทำลายจะสั้นลง (อ้างอิงข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมประมงยังได้เข้มงวดในการควบคุมความปลอดภัยและสุขอนามัยในสินค้าสัตว์น้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตลอดสายการผลิต โดยมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่วางจำหน่ายก่อนถึงมือผู้บริโภค อีกทั้งยังเพิ่มมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพและสุขอนามัยในกลุ่มเกษตรกร ชาวประมง และผู้ประกอบการ พร้อมติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการระบาดของโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การคัดกรองลูกเรือประมงและคนประจำเรือในช่วงเวลาเข้า-ออก ณ ท่าเทียบเรือประมงทุกแห่ง การกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของโควิด-19 ในแรงงานที่เข้าไปทำงานในโรงงานแปรรูป เป็นต้น