พลิกโฉมภาคเกษตรไทยให้ไร้ฝุ่น มิตรผลชี้ 'เกษตรสมัยใหม่' คือคำตอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 24, 2020 11:44 —ThaiPR.net

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว คนไทยเราเริ่มที่จะสังเกตเห็นว่าสภาวะอากาศรอบตัวนั้นเปลี่ยนแปลงไป บางวันอากาศก็ดูมืดสลัวคล้ายกับเมืองในหมอก พร้อมๆ กับรับรู้ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงเกิดการตื่นตัว เฝ้าระวัง หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ได้กำหนดนโยบายและมาตรการการดำเนินงานเพื่อป้องกัน ควบคุมปัญหาฝุ่นละอองดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 นั้น หากเป็นในเมืองใหญ่ ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการจราจร, การก่อสร้าง ขณะที่ในต่างจังหวัด ปัญหาฝุ่นละอองมักเกิดจากการเผาในที่โล่งแจ้งหรือการเผาในภาคเกษตรกรรม และเมื่อประกอบกับช่วงเวลาที่สภาพอากาศปิด ลมสงบ ไม่ถ่ายเท ก็ยิ่งส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง โดยที่ผ่านมา ภาคการเกษตรมักจะถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาพืชผลทางเกษตรหรือเศษชีวมวลต่าง ๆ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เช่น เผาฟางข้าว ซังข้าวโพด หรือเผาอ้อย

ในเรื่องนี้ คุณบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัท กลุ่มมิตรผล ได้ให้มุมมองไว้ว่า "ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนเลือกที่จะเผาวัสดุทางการเกษตรในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว อาทิ เช่น เผาฟางข้าว ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 60 ล้านไร่, ซังข้าวโพดซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6.53 ล้านไร่ หรืออ้อยซึ่งมีพื้นที่ปลูกในประเทศรวม 11.95 ล้านไร่ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันเวลา แต่การเผาก็จะทำให้สูญเสียคุณภาพผลผลิต รวมถึงส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งเป็นพื้นฐานการเจริญเติบโตที่จำเป็นของพืช อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนมีความพยายามที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ โดยผมมองเห็นว่าทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเผาในภาคเกษตรอย่างยั่งยืนสำหรับประเทศไทยนั้นประกอบด้วย 4 แนวทางด้วยกัน ได้แก่

  • เปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นเกษตรสมัยใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนการปลูก บำรุง เก็บเกี่ยว ที่จะต้องนำนวัตกรรม เทคโนโลยี เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดกลางและเล็ก เข้ามาใช้แทนแรงงานคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุน และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสำหรับการทำไร่อ้อยแล้ว กลุ่มมิตรผลได้ส่งเสริมแนวทางการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ตามหลัก "มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม" ให้แก่ชาวไร่อ้อยมา 5-6 ปี ซึ่งทำให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้ของกลุ่มมิตรผลน้อยลง ตัวอย่างเช่น โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ มีอ้อยสดเข้าหีบสูงถึง 99%
  • ส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตระหนักว่าการทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ดูแลสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้ชาวไร่ได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งในแง่ของคุณภาพของผลผลิตและรายได้ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสมดุลในระบบนิเวศน์ ลดการใช้สารเคมีในภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรไทยสามารถประกอบอาชีพเกษตรได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับเกษตรกร เช่น รถตัดอ้อย รถสางใบอ้อย รถอัดใบอ้อย เครื่องคลุกใบอ้อยเพื่อใช้เป็นวัตถุอินทรีย์ในดิน เป็นต้น
  • สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุชีวมวลทางการเกษตร เช่น ใบอ้อย ฟางข้าว ที่นอกจากจะใช้คลุมดินช่วยป้องกันวัชพืช รักษาความชื้น เป็นอินทรีย์วัตถุให้กับดินแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมเพื่อผลิตไฟฟ้าชีวมวล พลังงานสะอาด ลดการใช้น้ำมันฟอสซิลซึ่งเมื่อเกษตรกรเห็นว่าวัสดุชีวมวลเหล่านี้มีคุณค่า สามารถสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพก็จะเลิกเผา
  • บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพลังงาน หน่วยงานในท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน และเกษตรกร ซึ่งหากมีการบูรณาการแผนการดำเนินงานกันอย่างเข้มแข็ง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงเข้มงวดกวดขันเรื่องการเผาอ้อย ก็จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้พร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่นในปีนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันรณรงค์ให้งดเผาและตัดอ้อยสด
    ให้มากขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้มีนโยบายให้ตัดอ้อยสดเข้าหีบไม่น้อยกว่า 80% ในฤดูการผลิตปีนี้ ซึ่งกลุ่มมิตรผลคาดว่าในฤดูหีบนี้ จะสามารถตัดอ้อยสดได้ตามเป้าหมายของภาครัฐถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร รวมถึงสถานการณ์โควิด-19"
  • "ผมมองเห็นว่าเกษตรสมัยใหม่คือจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ ทั้งในด้านของคุณภาพและปริมาณผลผลิต เราจึงต้องส่งเสริมให้เกษตรกรมีทัศนคติที่อยากปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Smart Farmer เป็นเกษตรยุคใหม่ที่ใช้หลักการบริหาร เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาปรับใช้ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะหากไม่ปรับตัวในวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องฝุ่นที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ภาคเกษตรยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่มีผลจากปัญหาโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมเกษตรระดับโลกที่ท้าทายมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้" คุณบรรเทิง กล่าวสรุป

    สำหรับฤดูการผลิตประจำปี 2563/2564 โรงงานน้ำตาลกลุ่มมิตรผล ในจังหวัดสุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เลย และอำนาจเจริญ ได้เปิดโครงการรับซื้อใบอ้อยและฟางข้าวจากชาวไร่ ตันละ 1,000 บาท (ราคาหน้าโรงงาน) อย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 - 15 มีนาคม 2564 โดยในปีนี้ มีเป้าหมายที่จะรับซื้อใบอ้อยและฟางข้าวจากชาวไร่จำนวน 380,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 380 ล้านบาท นับเป็นการส่งเสริมให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น ท้องถิ่นมีอาชีพ เกิดการจ้างงานในชุมชน เศรษฐกิจระดับท้องถิ่นหมุนเวียน ช่วยลดภาระเศรษฐกิจที่ภาครัฐต้องสนับสนุน ทั้งยังได้ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ