สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กระทรวงคมนาคม จัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษานโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมราง และการประชุมเชิงปฏิบัติการสนับสนุน Local content ระบบราง โดยได้รับเกียรติจาก นายประทวน สุทธิอำนวยเดช ประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนส่งระบบราง สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดการสัมมนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงบทบาทการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมระบบราง สำรวจความพร้อมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมระบบราง รวมทั้งรับทราบปัญหา อุปสรรค ความต้องการและข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นแนวทางกำหนดนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง และเพื่อเสนอรูปแบบการบริหารทุนวิจัยให้ตรงเป้าหมายและสอดคล้องกับศักยภาพของ สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา ตลอดจนผลักดันให้เกิดกลุ่มงานสนับสนุนที่จำเป็นต่อการผลิตชิ้นส่วนรถไฟภายในประเทศ ได้แก่ หน่วยงานการมาตรฐาน หน่วยงานการทดสอบ และหน่วยงานการรับรองผลิตภัณฑ์ โดยมีหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา เข้าร่วมกิจกรรม ในวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ณ ชั้น 5 อาคาร Admim วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี
นายประทวน สุทธิอำนวยเดช ประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนส่งระบบราง สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ระบบรางถือเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อให้เกิดโครงข่ายการเดินทางที่สะดวกสบายของประชาชน และการขนส่งสินค้าด้านระบบรางที่มีความปลอดภัยและราคาไม่แพง ถือว่าเป็นการลงทุนระดับ MEGA PROJECT ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบรางซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาไปสู่ระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ทั้งนี้การพัฒนาระบบรางได้ถูกบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมีทั้งการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางบกเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโครงข่ายรถไฟตามแผนการลงทุนเร่งด่วนเพื่อพัฒนาให้ระบบรถไฟเป็นระบบหลักในการขนส่งสินค้า รวมไปถึงโครงการระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าหลากสี โครงการระบบรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้ารางเบา และการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค เช่น รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย เป็นต้น โดยรัฐบาลลงทุนด้านระบบรางถึงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบขนส่งที่ดีที่สุดในอาเซียน
"...การลงทุนด้านระบบรางจะมีความคุ้มค่ายั่งยืนในระยะยาวได้นั้น ต้องทำให้อุตสาหกรรมรางในประเทศเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง โดยใช้อุปสงค์ของการลงทุนในประเทศ ดังนั้นจึงมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนส่งระบบราง ในคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ขึ้น เพื่อช่วยทำหน้าที่ขับเคลื่อนในฝั่งนิติบัญญัติอีกทางหนึ่ง โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ทำรายงานการศึกษาการส่งเสริมอุตสาหกรรมรางครอบคลุมเกือบทุกมิติ ทั้งในด้านสิทธิประโยชน์เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนส่งระบบราง การกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถผลิตหรือประกอบได้ในประเทศ แหล่งเงินทุนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางของประเทศ และการส่งเสริมเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเชิงนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ แต่การสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพโดยตรงในด้านเทคโนโลยีอาจต้องอาศัยกลไกอื่นเข้ามาช่วย เช่น การจัดการเรื่องการให้ทุนวิจัย การทดสอบ การรับรอง เป็นต้น อีกทั้งอุตสาหกรรมเองต้องมีความตั้งใจและมีความพร้อมในการผลิตชิ้นส่วนระบบรางโดยการใช้วัสดุภายในประเทศ หรือ local content ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็น อุปสรรค และความต้องการของอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญมาก ดังนั้นกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญของทั้งภาคนิติบัญญัติ หน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการเอกชนในอุตสาหกรรมราง ในการร่วมกันส่งเสริมและผลักดัน local content ระบบราง ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไป..." นายประทวน สุทธิอำนวยเดช กล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมของไทย ระยะ 20 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟทางคู่และเส้นทางสายใหม่ และการพัฒนาการขนส่งในภูมิภาค ระยะทางรวมทั้งสิ้นกว่า 6,000 กิโลเมตร รวมถึงแผนการจัดหาล้อเลื่อนของการรถไฟแห่งประเทศไทยระยะเร่งด่วน จำนวน 5 โครงการ และระยะที่ 2 อีก 11 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดความต้องการตู้รถไฟและรถไฟฟ้ากว่า 11,000 ตู้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทยที่มีความพร้อมในด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่จะต่อยอดให้เกิดอุตสาหกรรมด้านระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างมหาศาล อาทิเช่น เกิดการลงทุนกว่า 1.5 ล้านบาท สามารถจัดซื้อรถไฟในราคาลดลงกว่า 2,700 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานที่ใช้ความรู้ระดับสูง รวมทั้งค่าจ้างแรงงานกว่า 6,000 ล้านบาท เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมขนส่งระบบรางในตลาดโลก
"...คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนส่งระบบราง ร่วมกับ วว. และกรมการขนส่งทางราง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเร่งผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนระบบรางในประเทศ หรือ local content ตามนโยบาย "Thai First" ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งระบุปริมาณ local content อย่างน้อย 40% ของมูลค่าภายในปี 2565 อีกทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผนวกกับนโยบายสร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ประเทศ ของกระทรวง อว. เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการบูรณาการความร่วมมือจะสามารถผลักดันให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนรถไฟภายในประเทศได้อย่างแน่นอน?" ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ทั้งนี้ในการจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษานโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมรางและการประชุมเชิงปฏิบัติการสนับสนุน local content ระบบรางดังกล่าว มุ่งสำรวจความพร้อมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมระบบรางใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.งานโยธาและระบบราง 2.ล้อเลื่อน 3.ระบบจ่ายไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ 4.ผู้ให้บริการเดินรถ และ 5.งานสนับสนุนการเดินรถ รวมทั้งรับทราบปัญหา อุปสรรค ความต้องการและข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นแนวทางกำหนดนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง และเพื่อเสนอรูปแบบการบริหารทุนวิจัยให้ตรงเป้าหมายและสอดคล้องกับศักยภาพของ สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา ลดความซ้ำซ้อน ตลอดจนผลักดันให้เกิดกลุ่มงานสนับสนุนที่จำเป็นต่อการผลิตชิ้นส่วนรถไฟภายในประเทศ ได้แก่ หน่วยงานการมาตรฐาน หน่วยงานการทดสอบ และหน่วยงานการรับรองผลิตภัณฑ์