ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 2 จังหวัด เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Monday December 28, 2020 09:52 —ThaiPR.net

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันน้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัยในพื้นที่ภาคใต้ 5 จังหวัด 36 อำเภอ 186 ตำบล 899 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 43,469 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 4 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 2 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส

และปัตตานี ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมและสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน (28 ธันวาคม 2563 เวลา 06.00 น.) รวม 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 36 อำเภอ 186 ตำบล 899 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 43,469 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 4 ราย (ยะลา 2 ราย นราธิวาส 2 ราย) ปัจจุบันปิดจุดอพยพทุกจุดแล้ว และยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 2 จังหวัด รวม 14 อำเภอ 75 ตำบล 453 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,428 ครัวเรือน ดังนี้ นราธิวาส น้ำท่วมในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแว้ง อำเภอศรีสาคร อำเภอระแงะ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอสุไหงปาดี อำเภอบาเจาะ อำเภอจะแนะ อำเภอสุคิริน อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอยี่งอ อำเภอรือเสาะ และอำเภอตากใบ รวม 73 ตำบล 450 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 29,716 ครัวเรือน ปัตตานี น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานี รวม 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 712 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมระดับน้ำลดลงทุกจังหวัด พื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 1 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ดินสไลด์ปิดทับบ้านเรือนประชาชนในอำเภอเบตง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงาน

ที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยระดมเครื่องจักรกลและเครื่องสูบน้ำเข้าพื้นที่ เพื่อเร่งระบายน้ำ และให้การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

โดย ปภ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่ และประเมินความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง ประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ