สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัด ประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมและการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบ ครั้งที่ 1/2563 โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นั่งเป็นประธาน หลังจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม และการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมและการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบ เป็นเสมือนเวทีที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรม โดยประเดิมการประชุมนัดแรกได้ถกถึงประเด็นสำคัญอย่าง กรอบการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ของประเทศปี 2570 ที่ได้มีการตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ภายในปี 2570 ในมิติเศรษฐกิจนวัตกรรมว่าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (Gross expenditures on R&D: GERD) เป็น 2% ต่อ GDP หรือประมาณ 370,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหมุดหมายของประเทศที่พัฒนา นอกจากนี้ยังวางเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนบริษัทฐานนวัตกรรม หรือ IDE (Innovation Driven Enterprise) ที่มียอดขาย 1,000 ลบ. จำนวน 1,000 ราย เพื่อขับเคลื่อนประเทศ
ที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการส่งเสริมและสนับสนุนมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐร่วมลงทุนโดยกลไก Holding Company โดย สอวช. ในฐานะเลขานุการการประชุมได้เสนอนโยบายส่งเสริม Holding Company ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.) การสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งและดำเนินการได้ตามกฎหมาย โดยจัดทำ Guiding Principle 2.) การส่งเสริมด้านเงินทุนโดยให้มหาวิทยาลัยนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยไปร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม 3.) การสนับสนุนการปรับปรุงระเบียบภายในของมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม 4.) การส่งเสริมมหาวิทยาลัยสร้าง Spin-off / Startup โดยให้นักวิจัยไปเป็นผู้บริหาร หรือนักวิจัยในบริษัทร่วมทุนได้แบบชั่วคราวและมีสิทธิ์กลับมาดำรงตำแหน่งเดิมได้ หรือใช้เวลาบางส่วนไปทำ Spin-off / Startup ซึ่งกลไก Holding Company จะช่วยให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทที่จะสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวในฐานะเลขานุการที่ประชุมว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศด้วย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในมิติเศรษฐกิจนวัตกรรมเป็นไปตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ให้เข้มแข็ง สอวช. จึงได้จัดทำกรอบการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ของประเทศปี 2570 ขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายนอกจากการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา เป็น 2% ต่อ GDP ในปี 2570 แล้ว ยังได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนธุรกิจฐานนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศที่มียอดขาย 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,000 ราย โดยผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม หรือ IDE (Innovation Driven Enterprise) หมายถึงผู้ประกอบการซึ่งมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างธุรกิจที่สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้ในระดับโลก (Global Scale) โดยองค์ประกอบสำคัญของการเป็น IDE ได้แก่ 1) มีเป้าหมาย/พันธกิจ/การลงทุน ขององค์กรที่มุ่งสู่การสร้างนวัตกรรม 2) มีการดำเนินงานที่คำนึงถึงนวัตกรรมเป็นสำคัญ ทั้งด้านบุคลากร กระบวนการทำงาน ระบบ และโครงสร้างขององค์กร 3) มีรายได้ที่มาจากการทำนวัตกรรมอย่างมีนัยสำคัญ
สอวช. จึงได้เสนอมาตรการส่งเสริมการสร้าง IDE ใน 4 ด้าน คือ 1) IDE Accelerators ผ่านการขับเคลื่อนโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และกลไกการส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมโดยกลไก Holding Company 2) Regional Innovation Economic Corridors เป็นการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและสนับสนุนให้เกิดสินค้าและบริการนวัตกรรม ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจของประเทศ เช่น EEC (เมืองการบินภาคตะวันออก (EEC-A), เขตนวัตกรรมระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi), เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd), ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd), ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ (EEC Genomics)) Innovation Economic Corridors เขตส่งเสริมสุขภาพวิถีใหม่ 3) การผลักดันผ่าน Strategic Sectors เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สุขภาพและการแพทย์ และเกษตรอาหาร และ 4) มาตรการสนับสนุน เช่น มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐหรือความต้องการจากภาคเอกชนที่มีตลาดขนาดใหญ่ (Thailand Business Innovation Research, TBIR /Thailand Tech-Transfer Research, TTTR) กองทุนนวัตกรรม รวมถึงกฎหมาย เช่น ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ?. ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้เพิ่มเติมในส่วนกระบวนการเพื่อสร้างการเติบโตของ IDE ทั้งการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างประเทศ มีการจัดแพ็คเกจด้าน Financial ตลอดจนจัดลำดับความสำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมการสร้าง IDE