"ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลื้มใจหลังมอบประธานยุทธศาสตร์ และโฆษกประจำตัว ในฐานะผู้ขับเคลื่อนหลัก "โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ" ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด นำทีมแกนนำ "ชลกร" จาก 5 พื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ "ชลกรชุมชน" มีผุ้สนใจเข้าร่วมทะลุเป้ากว่า 60 คน พร้อมรับการอบรมแบบเข้มข้น กำหนดเป้าหมายร่วมกัน และประกาศเจตนารมณ์ในการนำโครงการบริหารจัดการน้ำฯ ไปขยายผลในชุมชนของตนเอง
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ในฐานะคณะกรรมการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่มีคุณหญิงกัลยาเป็นประธานฯ ลงพื้นที่จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "โครงการชลกรชุมชน" ในระหว่างวันที่ 28-29 ธันวาคม 2563 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด (วษท.)จังหวัดร้อยเอ็ด
สำหรับการเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้น ในการถ่ายทอดหลักสูตรชลกรและมุ่งขยายผลเรื่องการบริหารจัดการน้ำสู่ชุมชน เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง แก้จนอย่างยั่งยืน โดยมีตัวแทนแกนนำชลกรชุมชนจากพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ และสุรินทร์ แสดงความสนใจตอบรับเข้าร่วมอบรมกว่า 60 คน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ถึงเท่าตัว ซึ่งภายในงานนี้จะมีทั้งการพูดคุยในประเด็น "การบริหารจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชา" โดย ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ พร้อมรับฟังปัญหาของการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ และการบรรยายเกี่ยวกับองค์ความรู้บริหารจัดการน้ำที่เป็นศาสตร์สากลโดย ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และลงพื้นที่จริงเพื่อฝึกปฏิบัติการการบริหารจัดการน้ำด้วยตนเองภายใต้แนวคิด ประหยัด และใช้หลักธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ตามเจตนารมณ์ของท่านรัฐมนตรีช่วยฯ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
นอกจากนี้จะไปเยี่ยมชมหมู่บ้านเขียวขี้เหล็กไพวรรณ ซึ่งถือเป็นชุมชนต้นแบบที่นำโครงการบริหารจัดการน้ำไปขยายผลเพื่อยกระดับชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งจะได้พูดคุยกับผู้นำชุมชน ถึงปัญหาและความท้าทายที่ต้องเผชิญ และรับฟังปัญหาของผู้นำชุมชนที่ร่วมชมงานและอยากนำไปขยายผล เพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกัน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ในการนำโครงการบริหารจัดการน้ำไปขยายผลในชุมชนของตนเอง
"การอบรมเชิงปฏิบัติการ "โครงการชลกรชุมชน" ถือว่าได้รับความสนใจอย่างมาก จากตัวแทนผู้นำชลกรชุมชนจากแต่ละพื้นที่ ตอบรับมาร่วมอบรมเกินกว่าเป้าที่กำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งหลังจบการอบรมจะร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ที่จะนำความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำไปขยายผลในชุมชนของตนเอง ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอีกขั้นในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และความยากจน ให้กับคนในพื้นที่ และชุมชน ตามนโยบายของคุณหญิงกัลยา" นางดรุณวรรณ กล่าว
นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ถือเป็น 1 ใน 4 นโยบายหลัก ของ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ในการวางรากฐานการศึกษาไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 โดยใช้กลไกของอาชีวะเกษตรในการขับเคลื่อนโครงการ โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ภายใต้หลักสูตร "ชลกร" เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
และด้วยยุทธศาสตร์ ภายใต้แนวทาง "ยั่งยืน" ของดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช จะยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงให้เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร (Digital Agri College) โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน : STI (Science /Technology/Innovation) เพื่อยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงเป็น Digital Agri College
นายภูมิสรรค์ ยังเผยด้วยว่า ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เชื่อว่าการจะพัฒนาประเทศ และการศึกษาไปข้างหน้าต้องอาศัยความร่วมมือจากคนทุกภาคส่วน ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนให้มีประสิทธิภาพอย่างมั่นคงและยั่งยืน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินการที่จริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งโครงการบริหารจัดการน้ำฯ เกิดจากดำริของ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ที่มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือประเทศชาติในการแก้ปัญหาเรื่อง "น้ำ" เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน