ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า ตั้งแต่เข้ามาทำงานเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 รวม 4 เดือนกว่า ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนกระทรวงแรงงาน เนื่องจากท่านนายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจที่จะยกระดับกระทรวงแรงงาน จากกระทรวงด้านสังคม ไปสู่ กระทรวงด้านเศรษฐกิจ โดยมีพลเอก ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทั้งประเทศกว่า 38.17 ล้านคน ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และให้หลุดพ้นจากความยากจน ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของCOVID-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่นหมายถึงภารหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของกระทรวงแรงงาน ที่จะช่วยให้แรงงานผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ ซึ่งตนเองรับผิดชอบขับเคลื่อนภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือ สสปท. ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ทำหน้าที่ส่งเสริมด้านความปลอดภัย ทั้ง 2 หน่วยงานที่กำกับดูแลนั้น เป็นหน่วยงานที่สำคัญต่อการทำงานของแรงงานทั้งประเทศ เพราะการที่จะให้แรงงานมีงานทำที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง แรงงานต้องมีความพร้อมในด้านทักษะฝีมือ มีความรู้ ความสามารถ จึงจะสามารถประกอบอาชีพได้
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงเป็นหัวใจสำคัญในการเป็นข้อต่อตรงกลาง เนื่องจากทักษะที่เด็กจบมายังไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง เราจึงมีหน้าที่ปรับทักษะอื่นเพิ่มเติม ให้ตรงกับความต้องการของนายจ้าง ภายใต้แนวคิด "สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ" สอดรับกับที่ท่านนายกฯ ที่ได้มอบนโยบายรวมไทยสร้างชาติ ผลงานเด่นๆ ในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา มีหลายโครงการที่กำลังผลักดันและขับเคลื่อน เช่น การสร้าง โดยเร่งพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการด้านแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่ง EEC นับได้ว่าเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน บูรณาการกับภาคีเครือข่าย ที่ร่วมกับภาคเอกชนหลายแห่ง เช่น ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ฝึกอบรมการติดตั้งระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคมในระบบ 4G และ 5G ร่วมกับบริษัท ซิโนเปค อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม เซอร์วิส คอร์ปอเรชั่น เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีการเชื่อมอัตโนมัติ และเป็นศูนย์กลางในการฝึกด้านการเชื่อม เพื่อส่งออกแรงงานไทยสู่การทำงานในแถบเอเชียและภูมิภาคอื่น ผู้ที่เข้าทำงานกับบริษัท จะได้รับค่าจ้างสูงถึง50,000 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ ETDA) อบรมให้แรงงานมีความรู้ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce รุ่นแรกจัดอบรมให้กลุ่มของมัคคุเทศก์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมมือกับบริษัท แคทบัซซ์ ให้บริการ Digital Service ผ่านเครือข่าย Free WiFi ความเร็วสูง และร่วมกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนากำลังแรงงานด้านดิจิทัล ผ่านการเรียนรู้แบบออนไลน์
การยก เร่งยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Productive Labour) ทั้ง 3 มิติNew-skill Re-skill และ Up-skill และการให้ โดยร่วมกับโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุ และโรงพยาบาลจัดให้ทุน 377 ทุนรวมกว่า 35 ล้านบาท ฝึกจบรับเข้าทำงานทันที อีกผลงานที่ต้องกล่าวถึงคือ การประชุมขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปี พ.ศ. 2564 - 2565 โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนในครั้งนี้ จึงมีการติดตามงาน และตั้งคณะทำงานย่อยอีกหลายคณะ ที่เด่นๆ คือ คณะทำงานเพื่อพิจารณาจัดตั้งสถาบันพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมดิจิทัล (DIDA) และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
รมช.แรงงาน ยังกล่าวอีกว่า อยากให้แรงงานได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ รวมถึงพยายามดึงความร่วมมือจากภาคเอกชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง บางส่วนเริ่มทำแล้ว ก็จะทำต่อให้เห็นนโยบายต่างๆ มากขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐอย่างทั่วถึงพ้นจากความยากจน ซึ่งช่วงต้นปี 2564 น่าจะผลักดันสวัสดิการประชารัฐสำหรับแรงงานที่ขาดโอกาสได้
"สุดท้ายที่ฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคนคือ ต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โควิด-19 จะไม่น่ากลัว ถ้าเราปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ เรียนรู้และพัฒนาตัวเองในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง" รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด