"เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีคุณธรรม" คำขวัญวันเด็ก ปีพ.ศ. 2564 โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในขณะที่ทุกคนกำลังเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 แต่ "โรคเบาหวาน" ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังก็ไม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นน้อยลง โดยมีสาเหตุหลักจาก "ภาวะโภชนาการเกิน" และ "การขาดการออกกำลังกาย" เบาหวานอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ที่น่าเป็นห่วง คือ "ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มเปราะบาง" ซึ่งนอกจากผู้สูงอายุแล้ว ได้แก่ เด็ก วัยรุ่น และผู้ด้อยโอกาสที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "ตัวช่วย"
ซึ่ง "ตัวช่วย" ในที่นี้หมายถึง "ญาติ" ซึ่งได้แก่ พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา ที่อยู่รอบข้าง จำเป็นที่จะต้องมาคอยช่วยดูแลป้องกันไม่ให้เกิดโรคเบาหวานในครอบครัวที่มีความเสี่ยง และในกรณีที่เป็นเบาหวานแล้ว คือ ดูแลไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ หรือมีภาวะแทรกซ้อน โดย อาจารย์ นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ สาขาวิชาการบริบาลผู้ป่วยนอก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน กล่าวว่า ผู้ป่วยในกลุ่มเปราะบางมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ "การตั้งเป้าหมายการรักษา" และ "การใช้ยา" ในการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเรียน และวัยรุ่น ที่สำคัญ คือ "การสร้างแรงจูงใจ" ให้เห็นว่าโรคเบาหวานมีความสำคัญ ต้องดูแลให้ดี ลด/แก้ไขปัจจัยเสี่ยง และสามารถควบคุมเบาหวานได้ เช่น มีปัญหาเรื่องอ้วน สามารถแก้ไขให้เป็นท้วม หรือน้ำหนักกลับมาเป็นปกติ เบาหวานก็หายได้ แต่หากดูแลไม่ดีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้
อาจารย์ นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ อธิบายว่า เวลาวัยรุ่นเป็นเบาหวานโดยมากจะยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำมากมาย เช่น การเรียน การเข้าสังคม การคบหาเพื่อน ฯลฯ ทำให้บางทีพวกเขาปล่อยปละเลยเรื่องการรับประทานยา และการดูแลตัวเอง ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี หากพวกเขามีความรู้ความเข้าใจในการจัดการตนเองที่เหมาะสม รวมถึงผลกระทบ และภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน นอกเหนือจากอาการที่เกิดจากภาวะน้ำตาลต่ำหรือสูง ซึ่งได้แก่ ความดันโลหิตสูง ภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดและหัวใจที่มากับอาการเจ็บแน่นหน้าอก ออกกำลังกายแล้วเหนื่อยง่าย และภาวะแทรกซ้อนทางไต ที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะผิดปกติ และตัวบวม เป็นต้น รวมทั้งมีการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมและเพียงพอ ก็จะทำให้เยาวชนเหล่านี้หันมาให้ความร่วมมือในการรักษามากขึ้น
ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นเด็กและวัยรุ่นไม่ได้ต้องการเพียงการ "ดูแลทางกาย" แต่จำเป็นต้องได้รับการ "ดูแลทางใจ" ร่วมด้วย นอกจากผู้ป่วยควรมีความรู้ในการดูแลตัวเอง ญาติและผู้ที่อยู่รอบข้างก็มีส่วนสำคัญที่จะต้องคอยช่วยดูแลผู้ป่วยด้วย โดยสามารถเข้ารับการอบรม หรือติดตามสาระน่ารู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานได้จากสื่อต่างๆ รวมทั้งร่วมกิจกรรมฝึกอบรม และเข้าค่ายเบาหวาน และค่ายกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน ของศูนย์กิจกรรมการสอนเพื่อการดูแลตนเองเรื่องเบาหวานของทีมเบาหวานศิริราช
ผู้สนใจกิจกรรมควรมีคุณสมบัติ คือ เป็นผู้ที่เป็นเบาหวานตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป และมากับผู้ปกครองได้ หรือผู้ที่เป็นเบาหวานในผู้ใหญ่ และกลุ่มเสี่ยงที่มีญาติเป็นเบาหวาน หรือคนที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินที่มีผลระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มผิดปกติ จะได้มีความรู้ไปป้องกันตนเองไม่ให้เสี่ยง หรือไม่เป็นเบาหวานในอายุน้อยได้ โดยที่ศูนย์เบาหวานศิริราชนอกจากจะมีแพทย์ที่คอยให้การดูแลแล้ว ยังพร้อมด้วยทีมงานผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานที่ผ่านการฝึกอบรม ประกอบด้วย พยาบาล นักโภชนาการ นักสุขศึกษา และเภสัชกร ฯลฯ ร่วมให้คำปรึกษา โดยทำงานกันเป็นทีมเพื่อการดูแลผู้ป่วยเบาหวานอย่างครบองค์รวมอีกด้วย
"โรคเบาหวานเปรียบเหมือนยาพิษที่ออกฤทธิ์ช้าๆ กว่าจะรู้ตัวก็มักสายเกินไป เด็กไทยวิถีใหม่จึงควรใส่ใจสุขภาพกันเสียตั้งแต่วันนี้" อาจารย์ นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสาร การอบรม และความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานได้ที่ FB: ศูนย์เบาหวานศิริราช