วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ กับการถ่ายทอดภาพสะท้อนของการแปลงขยะและวัสดุเหลือใช้และเปลี่ยนเป็นของที่สามารถนำกลับมาใช้ในชีวิตประจำวัน
วารินแล็ป คอนเทมโพรารี หอศิลป์แห่งใหม่ เปิดตัวพร้อมนิทรรศการศิลปะการจัดวาง (installation art) ณ บ้านเก่าอายุกว่า 100 ปีของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งถูกปรับปรุงใหม่ให้เป็นหอศิลป์ในย่านศูนย์กลางของงานศิลปะอย่างซอยเจริญกรุง 36
"OVERFLOW - from trash to art" เป็นนิทรรศการเปิดตัวของวารินแล็ป คอนเทมโพรารี ที่รวบรวมขยะจำนวนมากเพื่อนำเสนอแนวคิดของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของหอศิลป์ที่ต้องการสร้างพื้นที่สำหรับการพูดคุยถึงประเด็นทางสังคมต่างๆ ผ่านงานศิลปะ โดยในปี 2564 นี้จะเน้นไปที่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
จากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy นิทรรศการชุด "OVERFLOW - from trash to art" ชี้ให้เห็นว่าเราสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วมาใช้ซ้ำ ผ่านกระบวนการรีไซเคิล การซ่อมแซมตกแต่ง การประดิษฐ์หรือแปรเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้เป็นสิ่งของใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการลดการบริโภคทรัพยากรใหม่โดยไม่จำเป็น
คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะการจัดวาง (installation art) ชุดนี้ เลือกใช้วัสดุขยะที่ได้จากการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ห้องนิทรรศการถูกปกคลุมไปด้วยฝาขวดน้ำพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม และถุงพลาสติก โดยเฟอร์นิเจอร์ที่จัดวางในห้องถูกสร้างขึ้นมาจากวัสดุขยะทั้งหมด ทั้งโซฟา โต๊ะ โคมไฟ และประติมากรรมตกแต่งต่างๆ ด้วยความต้องการที่จะสร้างให้เกิดลักษณะที่ขัดแย้งกันทางความรู้สึก โดยผู้ชมสามารถใช้ชีวิตปกติด้วยความรื่นรมย์และผ่อนคลายในห้องที่ล้นไปด้วยขยะแห่งนี้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สะท้อนถึงชีวิตจริงว่าเราสามารถนำขยะมาหมุนเวียนใช้ในชีวิตประจำวันได้หากมีการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง
นิทรรศการชุดนี้ทักทายผู้ชมด้วยความรู้สึกที่ล้นทะลักไปด้วยขยะกองโตที่เราสร้างขึ้นในแต่ละวัน แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้น ผลงานศิลปะชุดนี้ต้องการที่จะสร้างความตระหนักรู้ของคนในสังคม เพื่อกระตุ้นให้เกิดแนวทางหรือวิธีการใหม่ๆในการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ แทนที่จะปล่อยให้กลายเป็นขยะล้นเมือง
วารินแล็บ คอนเทมโพรารี ทำงานร่วมกับชุมชนซอยเจริญกรุง 36 และชุมชนวัดม่วงแค โดยขอความร่วมมือจากชุมชนในการแยกขยะและรวบรวมวัสดุเหลือใช้เพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชุดนี้ โดยนิทรรศการ "OVERFLOW - from trash to art" ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนในการประดิษฐ์โคมไฟ 5 ชิ้น จากวัสดุขยะ หลังจากการจัดแสดงแล้วจะส่งมอบโคมไฟดังกล่าวให้แก่ชุมชนในเดือนมีนาคม เนื่องจากโคมไฟถูกออกแบบให้สามารถพลิกด้านกลับมาใช้เป็นถังแยกขยะสำหรับชุมชนต่อไปได้
นอกจากการมีส่วนร่วมของชุมชนในบริเวณใกล้เคียงแล้ว วารินแล็ป คอนเทมโพรารี ได้เชิญชวนองค์กรต่างๆ เพื่อรณรงค์การแยกขยะ ทั้งภายในองค์กรและในครัวเรือน โดยนำขยะและวัสดุเหลือใช้บางประเภทมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะครั้งนี้ องค์กรที่สนับสนุนขยะเหลือใช้ในนิทรรศการ "OVERFLOW - from trash to art" ได้แก่ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด, บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด, ร้านอาหารมะเก่า, บริษัท สยามซีเมนต์กรุ๊ป, ธนาคารไทยพาณิชย์ และ บริษัท มิชลิน อาร์โอเอช จำกัด นอกจากนี้ วิชชุลดายังได้รับการสนับสนุนวัสดุเหลือใช้จากบุคคลทั่วไปผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์
นิทรรศการชุด "OVERFLOW - from trash to art" จะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ถึง 21 มีนาคม 2564 โดยพิธีเปิดจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2564 เวลา 17.00 น. ถึง 19.00 น.
ด้วยจุดประสงค์ในการกระจายความตระหนักรู้ในด้านการบริหารจัดการขยะ วารินแล็ป คอนเทมโพรารี ร่วมกับวิชุลลดา มีโครงการจัดเวิร์คช็อปเพื่อแชร์ทักษะด้านการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ภายในบ้านมาสร้างสรรค์ เป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ โดยจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00 น. ถึง 15.00 น.
และเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการขยะในบ้านขยายไปยังวงกว้าง วารินแล็ป คอนเท็มโพรารี มีโครงการเวทีเสวนา ร่วมกับศิลปิน และคุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเดินทาง พิธีกร นักคิด นักเขียนและผู้ผลิตรายการสารคดี โดยจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00 น. ถึง 15.00 น. ผู้ที่สนใจในกิจกรรมเวิร์คช็อปและกิจกรรมเสวนา สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและสำรองที่นั่งได้ทาง Facebook และ IG ของ WarinLab
วารินแล็ป คอนเทมโพรารี มีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าถึงผู้ชมทั่วโลก ด้วยการนำเสนอประเด็นทางสังคมที่น่าจับตามองผ่านนิทรรศการที่เน้นคุณภาพ หอศิลป์แห่งนี้มุ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพูดคุยและถกประเด็นทางสังคม ผ่านผลงานศิลปะเพื่อกระตุ้นกระบวนการคิดวิเคราะห์และนำไปสู่การลงมือแก้ปัญหา
วารินแล็ป คอนเทมโพรารี ตั้งอยู่ที่ ห้อง 3101 โอ พี การ์เด้น ซอยเจริญกรุง 36 เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เวลาทำการ วันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 10.30 น. ถึง 19.30 น.