เอ็นไอเอเดินเครื่องใช้ "อนาคตศาสตร์" ฟื้นฟูวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเปิด 3 ประเด็นความท้าทายและโอกาสทางนวัตกรรมในทศวรรษใหม่ของไทย

ข่าวทั่วไป Thursday January 7, 2021 13:51 —ThaiPR.net

เอ็นไอเอเดินเครื่องใช้

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ขับเคลื่อนแนวทางการฟื้นฟูวิกฤตของประเทศด้วยอนาคตศาสตร์ ชี้ในสถานการณ์ที่ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาในหลากหลายด้าน จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากการคาดการณ์อนาคตมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาและฟื้นฟูประเทศในระยะยาว นอกจากนี้ ยังได้เร่งผลักดันการเกิดขึ้นของ "นักอนาคตศาสตร์" ซึ่งจะเป็นผู้วิเคราะห์ภาพของอนาคตที่จะเกิดขึ้น ผ่านการประมวลผลข้อมูลทางสถิติ เพื่อสะท้อนให้เห็นสิ่งที่ต้องเตรียมรับมือและการปรับตัวในมิติต่าง ๆ รวมถึงคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมใน 3 มิติสำคัญในทศวรรษใหม่ของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรม ได้แก่ ระบบสังคม ความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลก

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การศึกษา ระบบเศรษฐกิจ สาธารณสุข รวมถึงด้านประชากรที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ เป็นการตอกย้ำให้หน่วยงานภาครัฐและสังคมหันมาให้ความสำคัญกับการมองภาพอนาคต (อนาคตศาสตร์) มากขึ้น เนื่องจากเป็นการคาดการณ์โอกาส และความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพื่อทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ พร้อมหาแนวทางป้องกันหรือพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย ทั้งนี้ อนาคตศาสตร์จะพิจารณาวิเคราะห์สิ่งที่เกิดบนพื้นฐานเชิงบริบท แนวโน้มความเปลี่ยนแปลง และภาพอนาคตที่มุ่งหวัง โดยขณะนี้มีหน่วยงานระดับสากลที่นำศาสตร์ด้านการมองอนาคตไปใช้ในการวางแผนพัฒนาและฟื้นฟูประเทศในระยะยาวอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ สังคม การปกครองและความมั่นคง พร้อมทั้งกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญซึ่งประเทศชั้นนำและประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนนำมาใช้จนประสบผลสำเร็จแทบทั้งสิ้น

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น NIA ให้ความสำคัญกับอนาคตศาสตร์ผ่านการทำงานของ "สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม : Innovation Foresight (IFI)" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนและยกระดับศักยภาพด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดนักอนาคตศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำนโยบายเชิงนวัตกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กรและประเทศต่อไป

"ที่ผ่านมา NIA ได้นำอนาคตศาสตร์ มาดำเนินการศึกษาประเด็นความเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ ทั้งการพัฒนาย่านนวัตกรรม (Innovation District) ในพื้นที่นำร่อง 10 แห่ง อาทิ ย่านนวัตกรรมโยธี ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ ย่านนวัตกรรมภูเก็ต ฯลฯ การศึกษาภาพอนาคตเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคมในพื้นที่ (Social Foresight) ในจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ พะเยา กาฬสินธุ์ พัทลุง สตูล และปีนี้ก็มีแผนจะดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มอีก รวมถึงการศึกษาแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ (AgTech Trends) นอกจากนี้ NIA ยังได้นำอนาคตศาสตร์มาวิเคราะห์ถึงแนวโน้มปัญหาและความต้องการทางสังคมที่ถือเป็นกระแสความเปลี่ยนแปลงหลักสำหรับประเทศไทยในช่วงทศวรรษใหม่ ในปี 2021 - 2030 พร้อมคาดการณ์โอกาสของนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนและยกระดับคุณภาพชีวิตใน 3 มิติ ได้แก่

  • ระบบสังคม (Social System) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร และรูปแบบของระบบการเมืองการปกครอง ส่งผลให้ระบบสังคมเกิดความแตกต่าง และความไม่เท่าเทียมกันอย่างเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ จึงหนีไม่พ้นที่ภาครัฐจะต้องเป็นตัวกลางเร่งให้เกิดนวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมให้บริการสาธารณะที่เข้าถึงประชาชนทุกคน รวมถึงควรเน้นส่งเสริมการกระจายอำนาจบริหารจัดการ และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเปิดโอกาสสำหรับความคิดที่แตกต่าง และส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในระบบสังคมมากยิ่งขึ้น
  • ความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม (Climate Change) ไม่เพียงแต่ภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อน ขยะพลาสติก ฝุ่น PM2.5 วิกฤติด้านภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า น้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว ก็เป็นหนึ่งในความท้าทายของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งล้วนเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ระบบเศรษฐกิจและการผลิตที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและผลกำไร นี่จึงถือเป็นปัญหาสำคัญที่เราควรตระหนัก และเร่งทำนวัตกรรมที่จะสามารถรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
  • การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนยังคงมีอยู่ และยิ่งเมื่อสหรัฐมีผู้นำคนใหม่ ทำให้เป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก ทั้งผู้ผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงผู้บริโภคอย่างไร ระบอบเทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ใครจะเป็นผู้ควบคุมระบบจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่นี้ และประเทศไทยโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ก็จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ภาวะวิกฤติในระดับโลกเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ NIA เชื่อว่าวิกฤติเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยแนวทางการดำเนินการรูปแบบใหม่ที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างยั่งยืน ซึ่งนี่จะเป็นโอกาสของธุรกิจนวัตกรรม และ NIA พร้อมที่จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สถาบันการเงิน หรือแม้แต่การเชื่อมโยงไปสู่เครือข่าย เพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจ และส่งเสริมให้โมเดลทางธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้นไปด้วยกัน

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ