"Food Coma" กินเที่ยง ง่วงบ่าย อาการที่จัดการได้
หลายคนที่มีอาการช่วงเช้ากระปรี้กระเปร่า แต่พอพักเที่ยงซัดข้าวจนจุกทีไร ทำไม๊มันถึงง่วงได้ง่วงดีแบบนี้ ใครที่เคยมีอาการดังกล่าวขอให้ล้อมวงเข้ามา เพราะเรื่องแบบนี้มันมีคำอธิบายในวิทยาศาสตร์นะ
ซึ่งอาการที่กินอาหารมาอิ่มๆ แล้วดูง่วง ดูเซื่องซึมไม่อยากเคลื่อนตัวประหนึ่งงูเหลือมแบบนี้ เราเรียกว่าอาการ "Food Coma" มักเกิดขึ้นหลังกินอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมันเป็นหลัก เพราะหลังจากที่อาหารเหล่านี้ผ่านกระบวนการย่อยแล้ว จะได้กรดอะมิโนตัวหนึ่งที่เรียกว่า ทริปโตเฟน (Tryptophan) เมื่อทริปโตเฟนเข้าสู่ระบบประสาท จะมีผลให้สมองผ่อนคลายความเครียด เมื่อร่างกายเข้าสู่ระยะผ่อนคลายจึงเกิดอาการง่วงนอนนี่แหละ ไม่ได้เป็นพิษจากข้าวเหนียวหรือข้าวเที่ยงแต่อย่างใดนะ
นอกจากนี้การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือทำงานใช้สมองหนักเกินไปในช่วงเช้า ก็อาจทำให้เกิดอาการ Food Coma ตอนกลางวันได้เช่นกัน ซึ่งอาการจะมากหรือน้อย เป็นบ่อยหรือนานๆ เป็นที อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนไป
และไม่ต้องตกใจไปนะครับ... อาการ Food Coma ไม่ใช่โรคร้ายแรงแค่เป็นภาวะทางสรีรวิทยาที่พบได้ในคนทั่วไป อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เช่น เผลอหลับตอนทำงานหรือตอนเข้าประชุมอะไรแบบนี้ แต่ถ้าคุณดันเป็น Food Coma ตอนขับรถไปด้วย อันนี้เข้าข่ายอันตรายแล้ว เพราะอาจพาให้หลับในลงข้างทางเอาได้ง่ายๆ
ฉะนั้นถ้าเราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นหลังกินข้าวจุกๆ ควรปฏิบัติตามนี้นะ
- หลังอาหารมื้อกลางวัน ควรขยับเขยื้อนร่างกายบ้าง อาจไปเดินย่อยซัก 10-15 นาที ก็จะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น
- กินอาหารแต่ละมื้อให้พอดีอย่ากินอิ่มจนเกินไป โดยเฉพาะมื้อกลางวัน ให้เลี่ยงอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน เพื่อให้สมองและร่างกายสดชื่น
- จัดการงานกองโตบนโต๊ะทำงานของคุณในช่วงเช้า เพราะเป็นช่วงที่สมองกำลังตื่นตัว หากสะสมมาทำตอนบ่ายหรือหลังทานมื้อกลางวัน อาจทำให้คุณรู้สึกเบื่อ เหนื่อย เพิ่มความล้าและกระตุ้นการง่วงนอนได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยที่สุดคือ 6 ชั่วโมง ถ้าร่างกายพักผ่อนเต็มที่ โอกาสที่จะง่วง ระหว่างวันก็จะน้อยลง
- หาโอกาสงีบหลับในช่วงพักสักประมาณ 15-20 นาที ก็จะช่วยให้กระปรี้กระเปร่าขึ้นได้