กอนช.เร่งกู้พื้นที่น้ำท่วม 4 จว.ภาคใต้ ปิดการระบายฉุกเฉินจากเขื่อนบางลาง เพิ่มเครื่องจักรเครื่องมือระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็ว พร้อมรับมือช่วงน้ำทะเลหนุนสูงส่งผลต่อค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ย้ำแผนป้องกันไม่ให้กระทบคุณภาพน้ำผลิตประปา
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่ง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ติดตามและควบคุมการบริหารจัดการน้ำท่วมให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมขังใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ซึ่งล่าสุดขณะนี้ระดับน้ำที่ล้นตลิ่งหลายจุดแต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ บริเวณสะพานเดชานุชิต อ.เมือง จ.ปัตตานี น้ำล้นตลิ่งประมาณ 30 เซนติเมตร อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ประมาณ 1 เมตร และบ้านสะพานลันตู อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ประมาณ 80 เซนติเมตร
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งดำเนินการระบายน้ำในพื้นที่ท่วมขังออกสู่ทะเลโดยเร็ว พร้อมเร่งฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลดและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ล่าสุดปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ เริ่มลดลง เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงในพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ปิดระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำ (Spillway) เมื่อเวลา 24.00 น.ที่ผ่านมา รวมถึงพิจารณาปรับลดการระบายน้ำผ่านเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า (Turbine) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำได้อีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม กอนช. มีการประเมินสถานการณ์ฝนในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่าจะมีฝนอยู่บ้าง แต่จะไม่มีฝนตกหนักลงมาซ้ำเติมพื้นที่ในระยะนี้ ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิดต่อไป
ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กอนช. ได้ติดตามและคาดการณ์ระดับน้ำทะเลเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำเร่งระบายน้ำที่ยังคงท่วมขังในพื้นที่ภาคใต้ออกสู่ทะเลโดยเร็ว ซึ่งอาจจะยังเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำในบางพื้นที่อาจจะล่าช้ากว่าแผนไปบ้าง เนื่องจากขณะนี้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง ส่งผลให้อ่าวไทยมีคลื่นลมแรงส่งผลให้ในวันพรุ่งนี้ (12 ม.ค.64) บริเวณภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ลงมา ระดับน้ำทะเลยกตัวสูงกว่าระดับปกติประมาณ 50-100 ซม. พื้นที่ริมชายฝั่งอาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลสูงกว่าปกติและคลื่นลมแรง
ขณะเดียวกัน อิทธิพลดังกล่าวยังส่งผลต่อระดับความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่ง กอนช. โดยการประปานครหลวง (กปน.) ร่วมกับกรมชลประทาน ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามที่มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า อาทิ ลดการสูบน้ำดิบสถานีสูบน้ำดิบสำแลลงเพื่อหลบเลี่ยงความเค็ม โรงงานผลิตน้ำประปาบางเขนลดกำลังการผลิตลง ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตรา 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) เป็น 40 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา และเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกจากอัตรา 10 ลบ.ม./วินาที เป็น 25 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.64 รวมถึงการปฏิบัติการผลักดันลิ่มความเค็มเจ้าพระยา (Water Hammer) ในวันที่ 13 -16 ม.ค.นี้ เนื่องจากคาดว่าน้ำเค็มจะหนุนสูงสุดในวันที่ 13 ม.ค.และ 17 ม.ค.นี้. พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนผู้รับบริการประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่น้ำประปาจะมีรสชาติเปลี่ยนแปลงในบางช่วงเวลาโดยเฉพาะเมื่อน้ำทะเลหนุนสูง แต่ไม่กระทบต่อการอุปโภคบริโภคแต่อย่างใด