เกษตรฯ ผนึก ADB เปิดตัวโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคเกษตร บนพื้นที่สูง ปักหมุดเป้าหมาย ต.บัวใหญ่ จ.น่าน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 13, 2021 15:41 —ThaiPR.net

เกษตรฯ ผนึก ADB เปิดตัวโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคเกษตร บนพื้นที่สูง ปักหมุดเป้าหมาย ต.บัวใหญ่ จ.น่าน

เกษตรฯ ผนึก ADB เปิดตัวโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคเกษตร บนพื้นที่สูง ปักหมุดเป้าหมาย ต.บัวใหญ่ จ.น่าน พร้อมรับมือภัยธรรมชาติ ทำการเกษตรแบบเท่าทันภูมิอากาศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดตัวโครงการ "การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร เพื่อเพิ่มการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง" โดยมีนายทอง เปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นท้าทายของโลกมายาวนานนับ 10 ปี ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตรที่ต้องเผชิญความท้าทายในมิติต่าง ๆ จากภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงและความถี่มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเกษตรทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นที่สูง ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของดิน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ที่ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรเป็นอย่างมาก โดยได้มีการจัดแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตรมาตั้งแต่ปี 2552

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank: ADB) มาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อดำเนินโครงการ "การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรเพื่อเพิ่มการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง (Climate Change Adaptation in Agriculture for Enhanced Recovery and Sustainability of Highlands)" โดยได้ร่วมกันคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย ณ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ เนื่องจากเป็นพื้นที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งเป็นพื้นที่สูงที่ประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและการขาดแคลนน้ำ โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ ADB รับผิดชอบหลักในระดับพื้นที่ ซึ่งตลอดระยะเวลาของการพัฒนาโครงการฯ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และส่วนภูมิภาค ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ล่าสุด ADB ได้เสนอโครงการฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการจ้างที่ปรึกษา เพื่อจัดทำโครงการในลักษณะเป็นจุดสาธิตการทำเกษตรบนพื้นที่สูงในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ณ ต.บัวใหญ่ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการคลัง ประเทศญี่ปุ่น ผ่านกองทุนเพื่อการลดความยากจนของรัฐบาลญี่ปุ่น จำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ มีระยะเวลาดำเนินงานโครงการ 3 ปี มีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียเป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งได้เริ่มต้นดำเนินโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 และจะมีการสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่สูงได้เรียนรู้วิธีการและแนวทางการปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การรับมือและปรับตัวกับภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ตามบริบทที่เหมาะสมกับพื้นที่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวของชุมชนบนพื้นที่สูง รวมถึงการจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

สำหรับผลสำเร็จของโครงการฯ ได้กำหนด 4 ผลผลิต คือ ผลผลิตที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานสำหรับประเมินความเปราะบางของเกษตรพื้นที่สูงดีขึ้น ผลผลิตที่ 2 มีระบบการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ ผลผลิตที่ 3 ผลิตภัณฑ์การเกษตรมีคุณภาพ มูลค่าและความเชื่อมโยงกับตลาดเพิ่มขึ้น และ ผลผลิตที่ 4 ส่วนราชการท้องถิ่นและชุมชนเกษตรสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น

"กระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่สูงได้เรียนรู้วิธีการและแนวทางการปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อรับมือและปรับตัวกับภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ตามบริบทที่เหมาะสมของพื้นที่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อีกทั้งยังพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการร่วมกันดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่น ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำโครงการฯ รวมถึงธนาคารพัฒนาเอเชีย ตลอดจนสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียที่ให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการ เพื่อช่วยกันพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่สูงให้สามารถปรับตัวและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสามารถเป็นต้นแบบขยายผลไปสู่การทำเกษตรในพื้นที่สูงอื่น ๆ ต่อไป" นายเฉลิมชัย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ