ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศปี 2564 มุ่งพัฒนาการศึกษาไทยสู่ความท้าทายและการปรับตัว สู้วิกฤตโควิด-19 พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อน 4 นโยบายหลัก โค้ดดิ้ง-วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี-อ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย-อาชีวะเกษตรต่อเนื่อง
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปี 2564 นี้ถือเป็นปีแห่งความท้าทายของการศึกษาในรูปแบบใหม่ จากพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งกระทรวงศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของตนเองจะขับเคลื่อนแนวนโยบาย 4 เรื่องหลัก คือ โค้ดดิ้ง, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย และอาชีวะเกษตร
สำหรับการขับเคลื่อนทั้ง 4 นโยบายหลักในปีที่ผ่านมานับว่ามีความสำเร็จและมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้ง ซึ่งในปี 2564 นี้ ยังเดินหน้าขับเคลื่อนการเรียนการสอนโค้ดดิ้งให้ได้มากที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่จะมุ่งเน้นการเรียนการสอนโค้ดดิ้งไปที่ครูและนักเรียนเท่านั้น แต่จะกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ และทุกช่วงวัย ภายใต้แนวคิด "Coding for All" รวมไปถึงได้สั่งเร่งจัดทำหลักสูตรโค้ดดิ้ง สำหรับคนตกงาน เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ช่วยประชาชนให้สามารถ คิด-วิเคราะห์-วางแผน หางานและรายได้ให้กับตัวเอง
"ปีนี้ยังเป็นปีแห่งความท้าทายและการปรับตัวเข้าสู่การศึกษาในรูปแบบใหม่แบบ New Normal ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่จะต้องทำให้เด็กของเราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาอยากเรียน ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาสนใจ แต่ถึงกระนั้นก็ตามการเรียนรู้จะต้องปูพื้นฐานของการศึกษาตลอดช่วงวัยเรียนให้มีความเข้มข้น ทันสมัย และทันต่อสถานการณ์ โดยช่วงปีที่ผ่านมาได้ทุ่มเทเวลาและให้โอกาสไม่เฉพาะกับโรงเรียนต่าง ๆ ให้นำโค้ดดิ้ง ไปใช้ในการเรียนการสอน แต่รวมไปถึงทุกกลุ่ม ทุกอาชีพให้ได้เรียนรู้ รู้จักคิดวิเคราะห์"ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ส่วนนโยบายการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน : STI (Science /Technology/Innovation) รวมถึงให้การสนับสนุนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่งทั่วประเทศเพื่อขยายโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้สูงทัดเทียมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก เป็นตัวป้อนนักเรียนที่มีคุณภาพสูงเยี่ยมเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์ นักคิดค้นของประเทศชาติต่อไป ในอนาคต
ด้านนโยบายการอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย ยังเดินหน้าเน้นให้ครูปรับเปลี่ยนวิธีการสอน และกระบวนการเรียนการสอนด้วยการมีนวัตกรรมและสื่อการสอนที่ทันสมัยให้นักเรียนเรียนประวัติศาสตร์ไทยด้วยความสนุก ผ่านรูปแบบสื่อที่สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนที่สอดคล้องตามบริบทท้องถิ่นของแต่ละแห่ง สอดคล้องกับประเทศไทย 4.0 และโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะส่งเสริมเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ มีความเป็นไทย รักชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย
"เรื่องการอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัยดิฉันให้ความสำคัญมาตลอดตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งเพราะอยากเห็นเยาวชนรุ่นใหม่เข้าใจวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ของไทยว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นแก่ประเทศชาติ เรามีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ที่ควรต้องรักษาไว้ อยากให้เยาวชนมีความเข้าใจ รัก อยากเรียนประวัติศาสตร์ โดยผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สอดคล้องกับยุคสมัย ทำให้เขารู้สึกสนุก อยากเรียน ในขณะที่ครูผู้สอนก็จะมีเครื่องมือมาช่วยในการสอนด้วยเช่นกัน" ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
และนโยบายอาชีวะเกษตรที่ได้เดินหน้าเพื่อยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอด ทางเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร (Digital Agri College) รวมไปถึงการเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการบริหารจัดการน้ำฯ มีความคืบหน้าไปอย่างมาก ได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยม โดยล่าสุดได้มีการขยายผลไปยังชุมชนจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "ชลกรชุมชน" ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีแกนนำ "ชลกร" จาก 5 จังหวัด คือจังหวัดร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ และสุรินทร์ เข้าร่วมอบรมกว่า 60 คน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ถึงเท่าตัว พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการขุดบ่อกว่า 1,500 บ่อ ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 ภายใต้หลักคิด ประหยัด ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหา ภัยแล้ง และแก้จน