เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 รศ.ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ร่วมกับ กสศ.พัฒนา Black Box สื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดำเนินต่อไปได้ในช่วงเวลาที่โรงเรียนบางแห่งต้องปิดลงชั่วคราว ชุดการเรียนรู้ในกล่องดำออกแบบเป็นบทเรียน 'ออฟไลน์' ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก จุดเด่นของกล่องดำจึงอยู่ที่บทเรียนที่เด็กสามารถเลือกเวลาเรียนเองได้ เลือกเรียนตามความสนใจโดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ โดยชุดบทเรียนได้บูรณาการจากหมวดวิชาต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับชีวิต เชื่อมโยงความสนใจจากเรื่องราวรอบตัว ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว ไปจนถึงพื้นที่ชุมชนที่อาศัย ภายใต้ 4 หมวดวิชาที่ครอบคลุมพื้นฐานการเรียนรู้สำคัญ ได้แก่ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สังคมและมนุษยชน วิทยาการวิจัย และสัมมาชีพศึกษา
โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีการจัดงานแถลงข่าว COVID Slide ผลกระทบการเรียนรู้ของเด็กไทย กับแนวทางการจัดการ 'ปิดโรงเรียน แต่ไม่ปิดกั้นการเรียนรู้' ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึงผลการศึกษาปรากฎการณ์ COVID Slide ผลกระทบการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้หลายโรงเรียนต้องปิดลงในประเทศที่มีการระบาดอย่างหนัก เรียกว่า "Summer Slide" ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน และจากสถานการณ์ระบาดที่ต่อเนื่องยาวนานจึงเกิดปรากฏการณ์ COVID Slide ที่นักเรียนต้องออกจากโรงเรียนเป็นระยะเวลายาวนานทำให้สภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยงานวิจัยจากสถาบัน NWEA พบว่า นักเรียนต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานในสหรัฐอเมริกา ทำให้ความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์หายไปถึง 50% และความรู้ด้านการอ่านลดลง 30% โดยเฉพาะนักเรียนที่ไม่ได้เรียนโดยใช้ภาษาแม่เป็นหลักทำให้ทักษะด้านภาษาตกต่ำเป็นพิเศษ แม้แต่ในกลุ่มนักเรียนเศรษฐานะดีก็พบว่า การอยู่หน้าจอเป็นเวลานานส่งผลต่อสุขภาพจิตและการพัฒนาด้านสังคม อารมณ์ สอดคล้องกับงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการด้านระบบการสอนของสถาบัน MIT พบว่าการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการไม่ได้มาโรงเรียน เช่น ความรู้ที่ถดถอยไป ขาดประสบการณ์การเข้าสังคม การได้รับอาหารที่มีโภชนาการ บริการทางสังคมต่างๆ หรือการเรียนที่เหมาะสมกับวัยของนักเรียน
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีผลการศึกษาติดตามผลกระทบจาก COVID Slide ออกมา แต่จากแนวโน้มที่มีผลการศึกษาในระดับนานาชาติข้างต้นก็พอจะคาดการณ์ได้ถึงผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1) ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา 2) ภาวะถดถอยของพัฒนาการด้านการเรียนรู้และสุขภาวะของเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กยากจนด้อยโอกาส เด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กพิการ เด็กที่ต้องการการศึกษาแบบพิเศษ ซึ่งจะขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเมืองและชนบทจะยิ่งกว้างขึ้นมากกว่า 2 ปีการศึกษา ในระยะยาวอาจส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้วงจรความยากจนข้ามชั่วคนยังคงเกิดขึ้นไปสู่คนรุ่นต่อไป
ทั้งนี้ในงานแถลงข่าวได้มีการส่งมอบกล่องการเรียนรู้ หรือ Black Box สื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนรู้ ในพื้นที่สีแดงเข้ม 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และถุงยังชีพ "สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม" จำนวน 15,000 ถุง ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตและอุปกรณ์ป้องกันในสถานการณ์โควิดในระยะเวลา 15 วัน เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช ปลากระป๋อง แอลกอฮอล์ หน้ากากผ้า สำหรับเด็กเยาวชนขาดโอกาสที่อยู่นอกระบบการศึกษา ในพื้นที่สีแดงและแดงเข้ม 28 จังหวัด โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ทำการส่งมอบ Black Box สื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และถุงยังชีพให้กับคุณสีตลา ชาญวิเศษ Head of Marketing communication Kerry Express และผู้บริหารบริษัทเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ซึ่งให้การสนับสนุนการส่งมอบของให้ถึงมือเด็กเยาวชนทั้ง 28 จังหวัด รวมถึงการสนับสนุนผลิตภัณฑ์นมผสมสารสกัดจากเบอร์รี่ช่วยเสริมสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพความจำ "Memberry(เมมเบอร์รี่)"Memberry โดยบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวน 75,000 กล่อง และผลิตภัณฑ์อาหารเช้าซีเรียล koko krunch duo จำนวน 400 ลัง ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทเนสเล่ (ไทย) จำกัด