เลขาฯ มกอช. จับมือกรมประมง พัฒนาระบบรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลตามหลักสากล เตรียมพร้อมยื่นขอรับการประเมินความเท่าเทียมกับ GSSI มุ่งสร้างความเชื่อมั่นประเทศคู่ค้า หวังเพิ่มยอดส่งออกกุ้งทะเล
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกกุ้งทะเลรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2562 มีการส่งออกสินค้ากุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ปริมาณรวมทั้งสิ้น 176,500 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 51,720 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาด้านมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน มีการประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี หรือ GAP สำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล (มกษ.7401-2562) ภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของอาเซียน และสอดคล้องกับข้อกำหนดของ Global Sustainability Seafood Initiatives (GSSI) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับและมีเครือข่ายทั่วโลก
โดย มกอช. ร่วมกับกรมประมง มีแผนในการประเมินความเท่าเทียม (Benchmarking) ด้านมาตรฐานระบบการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล (มกษ.7401) กับข้อกำหนดของ GSSI เพื่อให้กุ้งทะเลของไทยได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้ส่งออกและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลของไทย โดยประเทศและองค์กรพันธมิตรจะยอมรับร่วมกันว่าหาก GSSI ประเมินแล้วว่ามาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ใช้อยู่เทียบเคียงได้กับข้อกำหนดใน GSSI Global Benchmark Tool มาตรฐานนั้นจะเป็นที่ยอมรับได้ทั่วโลก และไม่มีความจำเป็นต้องไปเทียบเคียงกับมาตรฐานอื่นๆ โดยเฉพาะมาตรฐานเอกชนอีก ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการกุ้งทะเลของไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมินเพื่อการรับรองมาตรฐานเอกชนปีละหลายแสนบาท จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช.และกรมประมง จึงได้ร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงระบบคุณภาพด้านมาตรฐานและการรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลของไทยทั้งระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินความเท่าเทียมกับ GSSI
"ปัจจุบัน มกอช.อยู่ระหว่างการทวนสอบระบบคุณภาพให้สอดคล้องตามหลักสากล สอดคล้องตามข้อกำหนดของ GSSI และมีความพร้อมสำหรับการประเมินความเท่าเทียมกับ GSSI โดยคาดว่าจะสามารถยื่นขอรับการประเมินความเท่าเทียมกับ GSSI ได้ประมาณต้นปี 2565" เลขาธิการ มกอช. กล่าว