มูลนิธิกระจกอาซาฮี มอบ 7 ทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม, วัสดุศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ แก่ นักวิจัย มจธ.ประจำปี 2563

ข่าวทั่วไป Friday January 22, 2021 13:57 —ThaiPR.net

มูลนิธิกระจกอาซาฮี มอบ 7 ทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม, วัสดุศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ แก่ นักวิจัย มจธ.ประจำปี 2563

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับมูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation - AF) สนับสนุนทุนวิจัย ประจำปี 2563 จำนวนทั้งสิ้น 7 โครงการ ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences), สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต (Life Sciences) และสาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) โดยมีพิธีมอบทุนอุดหนุนการวิจัยขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมประภา ประจักษ์ศุภนิติ (มจธ.)

ทุนวิจัยปี 2563 มีคณาจารย์และนักวิจัยของ มจธ. ได้รับทุนจำนวน 7 คน 3 สาขา ประกอบด้วย

  • สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) มี 2 โครงการวิจัย ได้แก่ รศ. ดร.วิทูร อุทัยแสงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ โครงการวิจัยเรื่อง "การออกแบบและวิเคราะห์สมบัติวัสดุสำหรับกระบวนการอบชุบและการเชื่อมด้วยเลเซอร์โดยอาศัยแบบจำลองมัลติสเกล (Material design and characterisation for laser heat treating and welding process using a multi-scale approach)" และ ผศ. ดร.ภาติญา เขมาชีวะกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ โครงการวิจัยเรื่อง "การสลายสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่เป็นอันตรายด้วยกระบวนการเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงโดยใช้เครื่องปฏิกรณ์รูปแบบใหม่ที่มีแผ่นกระจกเคลือบด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงที่เจือด้วยไนโตรเจนภายใต้การฉายแสงที่มองเห็นได้และแสงอาทิตย์ (Photocatalytic Degradation of Hazardous Volatile Organic Compound using an Innovative Reactor with Nitrogen-doped Photocatalyst-Coated Glass Sheets Under Visible and Solar Light Irradiations)" ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการสลายสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่เป็นอันตรายด้วยกระบวนการเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง เพื่อแก้ปัญหามลพิษในอากาศ โดยใช้เทคนิคการเคลือบตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงที่เจือด้วยไนโตรเจนบนแผ่นกระจกในรูปแบบของฟิล์มซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับหน้าต่าง หรือ ประตูภายในอาคาร อีกทั้งยังสามารถใช้ซ้ำและทำงานภายใต้แสงอาทิตย์ได้
  • สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต (Life Sciences) มี 3 โครงการวิจัย ได้แก่ ผศ.ดร.ดุจเดือน วราโห อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โครงการวิจัยเรื่อง "การคัดเลือกนาโนบอดีที่จำเพาะกับ PCSK9 จากคลังนาโนบอดีประเภท synthetic camelized human nanobody library เพื่อลดระดับคลอเรสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) สำหรับการรักษาโรคไขมันในเลือดสูง (Isolation of anti-PCSK9 from a synthetic camelized human nanobody library to reduce LDL-cholesterol for the treatment of dyslipidemia)" ดร.วราสิณี ฉายแสงมงคล อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม โครงการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาอัลกอริทึมการตรวจหาวัณโรคและโรคปอดบวมจากภาพถ่ายเอกซเรย์ปอดในประชากรชาวไทย (Development and Validation of Tuberculosis and Pneumonia Detection Algorithms for Chest X-Ray Images in Thai Population)" และ ดร.ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ สถาบันการเรียนรู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา และจิตวิทยา นักวิจัยพัฒนาการด้านสมอง กระบวนการเรียนรู้และความจำ โครงการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยโรคแบบบูรณาการโดยใช้สมอง สำหรับวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นในเด็ก (Developing an integrated brain-based diagnostic tool for children with attention-deficit and hyperactivity disorder)"
  • 3.สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) มี 2 โครงการวิจัย คือ ดร.วรธา กลิ่นสวาท อาจารย์คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี โครงการวิจัยเรื่อง "การประเมินผลกระทบของกิจกรรมมนุษย์ต่อโครงสร้างประชากรและความหลากหลายทางพันธุกรรมของโลมาอิรวดี (Orcaella brevirostris) ในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย (Impacts of human disturbance on genetic connectivity and diversity of populations of coastal and riverine Irrawaddy Dolphin (Orcaella brevirostris) in Thailand and Indonesia)" ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยาเพื่อประเมินผลกระทบของสภาพแวดล้อมในอดีตต่อรูปแบบวิวัฒนาการด้วยข้อมูล mitogenome และผลของกิจกรรมมนุษย์ต่อโครงสร้างพันธุศาสตร์ประชากรในปัจจุบันด้วย microsatellite genotypes โดยฐานข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนจัดการประชากรและถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดีในระยะยาว และ นายอนุชา ขำจริง ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ โครงการวิจัยเรื่อง "การประเมินภัยคุกคาม และการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการเพื่อการอนุรักษ์นากอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย (Threat assessment and management prioritization for otters' long-term conservation in coastal wetlands of southern Thailand)"
  • ดร.วรินธร สงคศิริ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์วิจัย กล่าวว่า มจธ. และมูลนิธิกระจกอาซาฮี มีความร่วมมือกันตั้งแต่ปี 2555 โดยมูลนิธิกระจกอาซาฮีสนับสนุนทุนวิจัยเป็นเงินจำนวน 3 ล้านเยนต่อปี และเพิ่มเป็น 5 ล้านเยนต่อปี ให้กับ มจธ. ในการทำวิจัย โดยตั้งแต่ปี 2555-2563 มีโครงการวิจัยที่ได้รับทุนไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 53 โครงการ รวมงบประมาณ 31,000,000 เยน หรือ 9,169,424 บาท

    โดยในปี 2562-2564 มจธ. ร่วมสมทบทุนวิจัยกับมูลนิธิกระจกอาซาฮี เป็นเงิน 10 ล้านเยนต่อปี (ฝ่ายละครึ่ง) เพื่อสนับสนุนให้เกิดผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

    ดร.วรินธร กล่าวว่า "ทุนวิจัยอาซาฮีเป็นแหล่งทุนสำคัญของ มจธ. ที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานในด้านต่างๆ และหลากหลาย ได้ช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่และเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนของ มจธ. อาทิ การศึกษาวิจัยพลังงานทดแทนทั้งกังหันลมและเชื้อเพลิงชีวภาพ แนวทางการพัฒนา Biosensor โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการวิจัยประเภทวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนิเวศวิทยาสัตว์ป่า การอนุรักษ์และนิเวศวิทยาผึ้งพื้นถิ่น และการต่อยอดการศึกษาสัตว์พื้นถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ ที่โครงการเหล่านี้จะขอทุนวิจัยจากแหล่งทุนอื่นได้ยาก"

    นอกจากนี้ ทุนวิจัยอาซาฮียังเป็นทุนวิจัยที่ทำให้นักวิจัยได้ต่อยอดผลงานวิจัยที่มีอยู่เดิมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วยขยายผลทำให้สามารถนำไปใช้ได้จริง เกิดเป็นผลงานเชิงประจักษ์ เช่น หุ่นยนต์ขึ้นมะพร้าวกำจัดแมลง การออกแบบแขนกลสำหรับการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย การศึกษาวิเคราะห์สัญญาณสมอง และการบำบัดน้ำเสียรักษาสภาพแวดล้อม เป็นต้น

    นอกจากนี้ ทุนวิจัยอาซาฮียังเป็นทุนวิจัยที่ทำให้นักวิจัยได้ต่อยอดผลงานวิจัยที่มีอยู่เดิมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วยขยายผลทำให้สามารถนำไปใช้ได้จริง เกิดเป็นผลงานเชิงประจักษ์ เช่น หุ่นยนต์ขึ้นมะพร้าวกำจัดแมลง การออกแบบแขนกลสำหรับการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย การศึกษาวิเคราะห์สัญญาณสมอง และการบำบัดน้ำเสียรักษาสภาพแวดล้อม เป็นต้น


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ