หลายคนอาจเปรียบเปรยวัยชราหรือวัยเกษียณว่าเป็นไม้ใกล้ฝั่ง เป็นวัยอาทิตย์อัสดงที่นับถอยหลังสู่บั้นปลายชีวิต ไร้คุณค่า ไม่มีเรี่ยวแรงรังสรรค์สิ่งใหม่ให้กับโลกนี้แล้ว
ช้าก่อน หากใครกำลังคิดแบบนี้ เราอยากให้ลองอ่านหนังสือ "อยู่ถึง 100 ปีอย่างมีค่าและกล้าที่จะแก่" ซึ่งเป็นเรื่องราวปรัชญาชีวิตของ อีกึนฮู นักวิชาการสูงอายุวัย 85 ปี ที่ใช้เวลาทั้งชีวิตในการรักษาผู้ป่วย พร้อมกับถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย
เขาเคยคิดว่าคนเราจะประสบผลสำเร็จได้ หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจและความพยายาม แต่เขาก็เพิ่งมาเข้าใจในภายหลังว่าชีวิตมักเจอกับเรื่องบังเอิญมากกว่าเรื่องตายตัว โลกใบนี้เต็มไปด้วยความอยุติธรรมและไร้สาระมากกว่าที่คิด
ทว่าเขาก็ยังนำความสุขเล็กๆมาช่วยเยียวยาความเศร้าต่างๆ เพราะความสุขเล็กๆ และความสนุกที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดระหว่างใช้ชีวิตในแต่ละวันจะช่วยบรรเทาการปลงอนิจจังและความเศร้าที่สะสมมาตลอดหลายปีได้ ดังนั้น เขาจึงคิดว่าทุกคนต้องใช้ชีวิตอย่างมีความสุขจวบจนวาระสุดท้าย โดยไม่สูญเสียรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
เนื้อหาในเล่มล้วนประกอบไปด้วยข้อคิดชีวิตตลอด 85 ปีของเขาซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกคน ทั้งคนที่กำลังอยู่ในวัชราหรือเกษียณ หรือคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยดังกล่าวในอนาคตอันใกล้ รวมไปถึงลูกๆหลานๆที่อยากอ่านเพื่อนำไปแบ่งปันกับคุณพ่อคุณแม่คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย นี่คือตัวอย่างเนื้อหาบางส่วน
- ข้อคิดเกี่ยวกับความชรา
- ข้อคิดเกี่ยวกับความโกรธ
- ข้อคิดเกี่ยวกับครอบครัว
- ข้อคิดเกี่ยวกับการให้อภัย
- ข้อคิดเกี่ยวกับการสื่อสาร
- ข้อคิดเกี่ยวกับมิตรภาพ
- ข้อคิดเกี่ยวกับความตาย
ฯลฯ
นี่คือข้อคิด 3 ข้อที่น่าสนใจที่นักเขียนอยากฝากถึงรุ่นน้องทุกคนเพื่อที่จะได้แก่ตัวอย่างมีคุณค่าและมีความสุข
- ข้อแรก จงยอมรับว่าตัวเองแก่แล้ว "ตัวเรา" ในตอนนี้เป็นผลลัพธ์จากอดีต ทุกคนล้วนเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านการสั่งสมประสบการณ์จากอดีตทั้งนั้น นี่คือพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ หากไม่พบอาจเป็นเพราะเราประเมินผลลัพธ์ที่สั่งสมมาต่ำไป ไม่ว่าผลลัพธ์จากอดีตจะมากหรือน้อยก็เป็นสิ่งที่มีค่ามากหากแม้แต่ตัวเรายังดูถูกแล้วใครล่ะจะให้คุณค่า ผมอยากให้เรายอมรับตัวตนแท้จริงของตัวเองในวัยนี้ได้แล้ว
- ข้อที่สอง อย่าเร่งรีบ ค่อยๆ ทำไป "ทีละเล็กละน้อย" หากเราค้นพบพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ก็พึงปฏิบัติไปตามนั้น ถ้าแค่บอกว่าพบแล้วแต่ไม่ยอมลงมือทำเสียที แล้วจะมีประโยชน์อันใดเล่าไม่ต้องรีบร้อนเพราะกังวลว่าจะเหลือเวลาอีกไม่มาก เพราะอย่างไรร่างกายของคนสูงอายุคงตอบสนองไม่ทันความคิดหรอก ดังนั้น ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยวางและเพลิดเพลินไปกับมัน คิดเสียว่านี่คือรางวัลที่เราสมควรได้รับจากการตรากตรำทำงานในโลกแห่งการแข่งขันมาตลอดชีวิต รางวัลนั้นก็คือ "ความเพลิดเพลิน" ที่ได้ทำอะไร "ทีละเล็กละน้อย"
- ข้อที่สาม อย่าเปรียบเทียบผลผลิตที่เราเก็บเกี่ยวได้กับของคนอื่น ผมขอยกตัวอย่างภาพวาด The Angelus ของศิลปินฝรั่งเศสที่ชื่อชอง-ฟรองซัว มีเล ที่สะท้อนภาพของวัยชราได้ดีที่สุด เกษตรกร 2 คนที่ทำงานอย่างขะมักเขม้นมาเป็นเวลา 1 ปีเต็มกำลังชื่นชมผลผลิตที่ตัวเองปลูก ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดล้วนเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเราเองทั้งสิ้น คนสูงวัยเองก็ควรยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เอาไว้เหมือนกัน
มนุษย์กำหนดโชคชะตาไม่ได้ แต่ลิขิตชีวิตตัวเองได้ เมื่อก้าวสู่ช้าวงบั้นปลาย จงเลือกว่าจะอยู่อย่าง "ทนทุกข์" หรือ "มีสุข" อย่าปล่อยให้เม็ดทรายแห่งชีวิตหมดไปอย่างไรค่า จงใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขจวบจนวาระสุดท้าย เพราะคนเรามีได้เพียง "ชีวิตเดียว"