ความแตกต่างระหว่าง โรค Covid 19 และไข้หวัดใหญ่ ในช่วงหน้าหนาว

ข่าวทั่วไป Monday January 25, 2021 09:11 —ThaiPR.net

ความแตกต่างระหว่าง โรค Covid 19 และไข้หวัดใหญ่ ในช่วงหน้าหนาว

ช่วงสถานการณ์ Covid 19 ตอนนี้ถือว่าเป็นช่วงที่น่าเป็นห่วงมากเลย บวกกับเข้าสู่หน้าหนาวทำให้หลายคนเป็นไข้หวัดใหญ่ แล้วเกิดความวิตกกังวลเกิดขึ้น

ความแตกต่างของ Covid 19 กับไข้หวัดใหญ่ มีความใกล้เคียงกัน คือคนไข้จะมีอาการ มีไข้ ไอ คัดจมูก เจ็บคอ คล้ายๆกัน แต่ถ้ามีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส อันนี้น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยง Covid 19 ถ้าเกิดมีไข้สูงตั้งแต่วันแรกเลย หรือ ว่าปวดเนื้อ ปวดตัว อาจจะมีแนวโน้ม ไปทางไข้หวัดใหญ่ ระยะฟักตัวของ ไข้หวัดใหญ่ จะสั้นกว่า Covid 19 ตั้งแต่เรารับเชื้อเข้ามาจนถึงแสดงอาการ ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ 2-3 วัน รู้แล้ว แต่ถ้าเป็น Covid 19 ใช้ระยะ 5-6 วัน ถึงจะแสดงอาการ อาการของกลุ่มคนไข้หนัก ในโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีปัญหาที่ระบบจะอยู่ที่ทางเดินหายใจเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นเชื้อ Covid 19 จะส่งผลในหลายระบบ เพราะว่าเชื้อนี้ถ้ามีอาการรุนแรงจะทำลายเส้นเลือดของเราให้เกิดการอักเสบ และเกิดลิ้มเลือดในหลอดเลือดได้ เพราะฉะนั้นคนไข้บางคนอาจจะมีอาการหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองตีบ ก็เป็นได้

โรค Covid 19 ประมาณ 80% ของคนติดเชื้อจะแสดงอาการน้อย หรือว่าไม่มีอาการเลยก็ได้ โรคนี้กว่าจะแสดงอาการคือเชื้อจะอยู่ในตัวเราแล้ว 5-6 วัน นับตั้งแต่วันที่เราได้รับเชื้อ จนกระทั้ง 1 อาทิตย์แรก ผู้ป่วยรับเชื้ออาจจะรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองเป็นหวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่จริง ๆแล้ว หลังจากรับเชื้อประมาณ 5-7 วัน เชื้อจะลงปอดด้วยความรวดเร็ว นำพามาสู่ปัญหาปอดติดเชื้อ ในหลายเคสอาจจะอาการยังดี แต่อาจแย่ลงอย่างรวดเร็ว เรียกว่า 3 วัน อันตราย ถ้าคนไข้อยู่ในความดูแล ของหมอ หมอจะดูในวันที่ 5,6,7 ว่ามีอาการปอดติดเชื้อหรือเปล่า

คนที่ติดเชื้อแต่หายไปเองมีหรือไม่ ก็เป็นไปได้ เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า 80% ของผู้ติดเชื้อมีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ ถ้าผู้ติดเชื้อไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองมีความเสี่ยงก็อาจจะไม่ได้ไปตรวจ แต่จะเป็นผู้แพร่เชื้อ(Super spreader)ให้แก่คนอื่นได้

ติด Covid 19 รักษาหายปอดจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความหนักเบา ถ้ามีอาการปอดติดเชื้อเล็กน้อยไม่มีอะไร ตรงนี้สามารถกลับมาเป็นปกติได้ แต่อาจจะใช้ระยะเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แล้วแต่ความหนักเบา แต่ถ้าถึงขั้นการหายใจล้มเหลว สภาพปอดถูกทำลายไปเยอะแล้ว ก็อาจจะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้

กลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงที่สุดของการติดเชื้อ Covid 19 ได้แก่ อันดับแรกเลยคือผู้สูงอายุ เราจะนับที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวาน เพราะคนไข้ที่มีโรคCovid และเบาหวานร่วมด้วยจะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าโรคอื่นๆ โรคประจำตัวอื่นๆ ที่น่าเป็นห่วงก็จะพวกโรคเรื้อรัง โรคปอด โรคหัวใจ ไต ตับ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงภาวะอ้วนด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
พญ.พิมฑิราภ์ สุจริตวงศานนท์
ศูนย์ทางการแพทย์ อายุรกรรม โรคทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ