ทองคำปลอมระบาดหนัก GIT แนะหาข้อมูลก่อนซื้อเพราะ"ถูก"

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 26, 2021 14:04 —ThaiPR.net

ทองคำปลอมระบาดหนัก GIT แนะหาข้อมูลก่อนซื้อเพราะ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT แนะผู้บริโภคซื้อเครื่องประดับทองออนไลน์ "เช็คให้มั่นใจก่อนซื้อ - ขาย"หลังการค้าออนไลน์ออกมาโฆษณาค้าทอง 99.99 ในราคาหลักร้อย

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน GIT เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันราคาทองคำสูงถึงบาทละ 26,450 บาท (11 มกราคม 2564) จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ มิจฉาชีพ รวมทั้งร้านค้าออนไลน์บางแห่ง ใช้โอกาสนี้หลอกขาย "ทองคำปลอม" ในรูปแบบโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ อาทิ ทองเกรด A ทองไมครอน ทองโคลนนิ่ง ทองยัดไส้ รวมถึงเครื่องประดับทอง 99.99% ในราคาเพียงหลัก"ร้อย" โดยใช้ข้อความในการโฆษณาที่ดึงดูดใจผู้บริโภค เสนอขายพร้อมใบรับประกันของร้านค้า ซึ่งไม่มีการตรวจสอบหรือยอมรับโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้

เพื่อป้องกันการถูกหลอก หรือ ได้สินค้าที่ไม่ถูกต้อง สถาบันแนะนำให้ผู้บริโภคศึกษาข้อมูลอย่างรอบครอบก่อนซื้อ ซึ่ง GIT เป็นหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง สำหรับเครื่องประดับทองคำนั้น จำเป็นต้องมีส่วนผสมของทองคำ 33.33% ขึ้นไป หรือที่รู้จักกันในชื่อของทอง 8K และหากมีค่าความบริสุทธิ์ของทองคำต่ำกว่านั้นจะไม่เรียกว่าเครื่องประดับทองคำ

อย่างไรก็ตามเทคนิคการขายที่เห็นโดยทั่วไป โดยเฉพาะการไลฟ์สดผ่านทางสื่อออนไลน์ มีการลด แลก แจก แถม โดยให้ข้อมูลเพียงว่า สินค้าเป็นเครื่องประดับทองคำ 99.99 เท่านั้น (อาจมีใส่จำนวนของทองคำเล็กๆ ด้านหลัง เช่น 0.01g) เป็นต้น ดังนั้น ในการตัดสินใจซื้อเครื่องประดับทองคำ ผู้บริโภคไม่ควรสนใจแค่เรื่องราคาเท่านั้น แต่ควรเลือกซื้อจากร้านค้าน่าเชื่อถือได้ เช่น เป็นสมาชิกสมาคมผู้ค้าทองคำ หรือ โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy with Confidence) ของสถาบัน ซึ่งสินค้าจะได้รับการตรวจสอบมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม วิธีในการตรวจสอบทองคำปลอม หากเป็นร้านขายทองคำ จะใช้การตะไบเข้าไปในเนื้อทองคำ เพื่อเช็คดูว่ามีการสอดไส้หรือไม่ แต่หากเป็นทองคำแท่งที่ใช้ทองคำจริงมาหุ้มหนาๆ การตะไบก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อความมั่นใจ สถาบันขอแนะนำให้นำตัวอย่างมาตรวจสอบกับ GIT เนื่องจากเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ที่มีเครื่องมือขั้นสูง โดยใช้เทคนิคการตรวจสอบที่เรียกว่า คลื่นอัลตราโซนิค เพื่อตรวจสอบความเป็นเนื้อเดียวกันของโลหะมีค่า ที่ไม่ทำลายชิ้นงาน นอกจากนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำ สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของสถาบันได้ เพียงดาวน์โหลด Application CARAT แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาจาก GIT โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่า โทร 02 634 4999 ต่อ 421 - 425


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ