ขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวรถไฟฟ้ารูปแบบใหม่ (CMU Electric Shuttle Car) จำนวน 40 คัน ด้วยคุณสมบัติยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาด ให้บริการครอบคลุมการสัญจรทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เวลา 7.00 น. - 22.00 น. ตลอดทั้ง 7 วันต่อสัปดาห์ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาและบุคลากร ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสะสมมากกว่า 5,700,000 คน รวมระยะทางที่ให้บริการมากกว่า 5.8 ล้านกิโลเมตร มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,650 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเป้าหมายการเป็นผู้นำในการสร้างและการจัดการเทคโนโลยีนวัตกรรมสีเขียวที่ยั่งยืน
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ถือเป็นงานที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพเชื่อมโยงการเดินทางที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ให้มีความสะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการปริมาณรถบนท้องถนนและการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ภายใต้การกำกับดูแลโดยศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงรูปโฉม ปรับรูปแบบเป็นตัวถังจากเดิมที่เป็นแบบเปิดโล่งให้เป็นแบบปิด สามารถนั่งได้สูงสุด 16 ที่นั่ง เปลี่ยนระบบแบตเตอรี่เป็นแบบลิเทียมไอออนฟอสเฟต ที่มีประสิทธิภาพและอายุการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เช่น การติดตามตำแหน่งรถและแสดงผลบน CMU Mobile Application แบบ Realtime การนับจำนวนผู้โดยสารด้วยวิธี Image Processing ร่วมกับ AI ภายในมีการติดตั้งจอภาพแสดงเส้นทางเดินรถและงานประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัย ติดตั้งพัดลมระบายอากาศ ปุ่มกดสัญญาณแจ้งจอด อุปกรณ์ดับเพลิงและอุปกรณ์กู้ชีพฉุกเฉิน ดูแลความสะอาด ปลอดภัย แก่ผู้ใช้บริการ ด้วยการอบโอโซนฆ่าเชื้อภายในห้องโดยสารรถไฟฟ้าทุกคัน ในช่วงการระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงการเก็บข้อมูลต่างๆ ของตัวรถ เพื่อนำมาประมวลผลและวางแผนการบริหารจัดการการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังคงมุ่งมั่นและส่งเสริมการประหยัดพลังงานควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมพร้อมรองรับแนวโน้มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ นำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ และแนวความคิดในการเผยแพร่ส่งมอบให้แก่สาธารณะ อันจะเป็นประโยชน์ในการสัญจรระดับชุมชน ตลอดจนเป็นฐานในการต่อยอดเพื่อพัฒนาเมืองและประเทศต่อไป