จากนโยบาย ของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานสะอาดตามวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก สร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) ลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวข้องครอบคลุมโครงการพลังงานในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ ลอยน้ำ) ฯลฯ โดยตั้งเป้าผลิตไฟฟ้า 400-500 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 3 ปี รวมถึงความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินหน้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งล่าสุดคืบหน้าแล้วกว่า 80% และคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในกลางปี 2564 เพื่อเสริมความมั่นคงพลังงานสะอาดของประเทศไทย
จากความมุ่งมั่นในการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านการพัฒนาพลังงานสะอาด และความสำเร็จของทั้ง 2 โครงการ ทำให้ปีนี้ บี.กริม เพาเวอร์ มีแผนเดินหน้าขยายฐานลูกค้าและบริการอย่างเต็มที่ในด้านโซลาร์ รูฟท็อป และ โซลาร์ ลอยน้ำ ก้าวสู่ผู้ประกอบการด้านพลังงานที่ครบถ้วนและทันสมัยที่สุด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
รุก "โซลาร์ รูฟท็อป" ขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า นโยบายในปี 2564 บี.กริม เพาเวอร์ จะเดินหน้าขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานโซลาร์ รูฟท็อป อย่างเต็มที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านการพัฒนาพลังงานสะอาด และด้วยรูปแบบความต้องการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศ มีนโยบายลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนมากทั่วโลก เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อร่วมกันลดภาวะโลกร้อนและดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยกันอย่างยั่งยืน
สำหรับ บี.กริม เพาเวอร์ ซึ่งเข้าสู่ธุรกิจนี้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถือว่ามีความพร้อมอย่างมาก สามารถขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ปัจจุบัน ได้เข้าไปติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป แล้วใน 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม โอมาน และฟิลิปปินส์ และมีแผนขยายตลาดเพิ่มเติมอีกในปีนี้ ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีการเซ็นสัญญาติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป ทั้งสิ้น 115 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว 26 โครงการ รวมกำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก18 โครงการ รวม 103 เมกะวัตต์ อาทิ เช่น ไอคอนสยาม, สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โรงพยาบาลชุมชน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการทำสัญญาอีก9 โครงการ รวม 24 เมกะวัตต์ และยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการนำเสนอให้กับองค์กร และหน่วยงานต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก
เดินหน้าเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่นอกนิคมฯ
การรุกโซลาร์ รูฟท็อป ยังช่วยให้ บี.กริม เพาเวอร์ สามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายขึ้น ทำให้ไม่มีข้อจำกัดในการเข้าเสนอโมเดลของธุรกิจให้กับลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรม
"การมีโซลาร์ รูฟท็อป ทำให้เราสามารถเข้าไปเสนอโมเดลธุรกิจ และจับมือเป็นพันธมิตรกับลูกค้านอกเขตนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยโมเดลธุรกิจของ บี.กริม ไม่ได้มุ่งกำไรเป็นที่ตั้ง เป้าหมายของบริษัทในการเข้าสู่ธุรกิจนี้ เป็นการมุ่งตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างพันธมิตรกับลูกค้าในระยะยาว" ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า อีกหัวใจสำคัญในการเข้าสู่ธุรกิจนี้ คือ ระบบการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป ซึ่งเป็นระบบที่ต้องมีการบำรุงรักษาในระยะยาว ทำให้สัญญาส่วนใหญ่ที่ทำกับลูกค้าจึงเป็นสัญญาระยะยาว 15-25 ปี ดังนั้น รูปแบบในการดำเนินธุรกิจนี้จึงเป็นการสร้างพันธมิตรระยะยาว ระหว่าง บี.กริม เพาเวอร์ กับลูกค้าในการร่วมสร้างพลังงานสะอาดไปพร้อมกัน รวมถึงสร้างประโยชน์ที่ต่อเนื่องจากธุรกิจไปสู่สังคม สะท้อนวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจเพื่อ "สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี" หรือ "Empowering the World Compassionately"ของ บี.กริม เพาเวอร์ อย่างเด่นชัด "วันนี้ โซลาร์ รูฟท็อป ทำให้เราสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้มากขึ้นว่าการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี มีความหมายมากขนาดไหน" ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
บี.กริม ผู้ประกอบการด้านพลังงานครบถ้วนที่สุด
ด้านนายพีรเดช พัฒนจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายกฎหมายและพัฒนาธุรกิจ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่องค์กรต่างๆ หันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ผสมผสานกับระบบที่ทันสมัยของโรงไฟฟ้าแบบพลังความร้อนร่วม (combined cycle cogeneration) ซึ่งยังมีความจำเป็นเพราะเป็นระบบที่มีเสถียรภาพกว่า ทำให้เกิดเทรนด์การใช้พลังงานที่ผสมผสาน หรือ hybrid power plant ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของ บี.กริม เพาเวอร์ เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ประกอบการด้านพลังงานที่ครบถ้วนและทันสมัยที่สุด ทั้งเป็นผู้นำด้านโรงไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมกระจายอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่มีความทันสมัยทั่วภูมิภาค และด้านพลังงานทดแทนมีโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
"การขยายขอบเขตธุรกิจพลังงานทดแทนครอบคลุม โซลาร์ รูฟท็อป และ โซลาร์ ลอยน้ำ ทำให้ บี.กริม เพาเวอร์ สามารถเสนอรูปแบบการจำหน่าย ดูแล และบำรุงรักษา ระบบไฟฟ้าให้กับลูกค้าได้อย่างครบวงจร และมีประสิทธิภาพ สามารถตอบโจทย์ทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นหัวใจของธุรกิจ โซลาร์ รูฟท็อปที่ ที่ บี.กริม เพาเวอร์ เข้ามาดำเนินการในทุกวันนี้" นายพีรเดช กล่าวทิ้งท้าย