ปัจจุบันโรคไตเป็นปัญหาที่สำคัญและคนไทยเป็นกันมากขึ้น "ไต" เป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่กำจัดของเสียออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ หากเกิดความผิดปกติกับไตก็จะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกายได้
พญ.รัตติยา เภาทอง อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคไต ศูนย์ไตเทียม โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า โรคไตมีสาเหตุจากหลายอย่าง บางโรคทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน ซึ่งหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีทำให้การทำงานของไตกลับมาเป็นปกติได้ บางโรคทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังหากได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่ระยะแรกสามารถชะลอความเสื่อมของไตได้ สาเหตุสำคัญของโรคไตเรื้อรังในคนไทย ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง นิ่วในไต โรคไตอักเสบจากสาเหตุต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อให้รู้เท่าทันโรคไต เราจึงควรสังเกตอาการและสัญญาณเตือนของโรคไต เพื่อสามารถดูแลและปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องค่ะ
- ปัสสาวะผิดปกติ โดยอาจมีอาการปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะเป็นเลือด แสบขัดหรือปัสสาวะขุ่น บางรายอาจมีปริมาณปัสสาวะลดลงหรือปัสสาวะบ่อยเวลากลางคืน
- อาการบวม โดยสามารถบวมได้ตั้งแต่ขา เท้าและหนังตา เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเกลือและน้ำได้ ทำให้เกิดการคั่งของน้ำในร่างกาย สามารถทดสอบได้ด้วยการลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อย หากพบว่ามีรอยบุ๋มอยู่แสดงว่าบวม อย่างไรก็ตาม อาการนี้สามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นกัน จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดร่วมด้วย
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากของเสียที่สะสมในร่างกาย
- ความดันโลหิตสูง เนื่องจากไตเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมน้ำและเกลือ รวมทั้งสร้างสารที่มีผลต่อระดับความดันโลหิต อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตตามมา หรือเป็นผลจากการที่มีโรคไตได้เช่นกัน ดังนั้นการควบคุมความดันโลหิต การหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจึงสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตเรื้อรังตามมาได้
- ปวดหลังหรือปวดเอว อาจเกิดได้จากการที่มีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือการติดเชื้อทำให้มีกรวยไตอักเสบ ซึ่งอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นต้น
- อาการคัน สามารถเกิดเมื่อผู้ป่วยมีการทำงานของไตที่ลดลงมากๆ หรือเข้าสู่ไตเรื้อรังระยะท้าย เนื่องจากไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกาย
อย่างไรก็ตามหากสังเกตสุขภาพของตนเองเบื้องต้นแล้วพบว่ามีอาการคล้ายหรือมีสัญญาณว่าเป็นโรคไตก็อย่าพึ่งตกใจหรือกังวลจนเกินไป ควรรีบปรึกษาแพทย์จะเป็นการดีที่สุดค่ะ
ข้อมูลดีๆ จาก พญ.รัตติยา เภาทอง อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคไต ศูนย์ไตเทียม โรงพยาบาลหัวเฉียว