สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในบ้านเราที่มีค่าฝุ่นสูงขึ้นจนติดอันดับโลก ส่งผลกระทบในการดำเนินชีวิตของคนเมืองที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญคือส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกาย การมีเครื่องมือตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ซึ่งพัฒนาโดยคนไทยด้วยข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้ เพื่อเตรียมพร้อมให้ประชาชนเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้จัดโครงการ Sensor for All สำหรับติดตามข้อมูลด้านคุณภาพอากาศ และปริมาณฝุ่น PM2.5 มาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ปี มีการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นจิ๋วตามจุดต่างๆ เริ่มจากในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขยายการติดตั้งไปทั่วประเทศ นับเป็นนวัตกรรมจากคณาจารย์จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่ก้าวหน้ามาเป็นลำดับ
ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการ Sensor for All เปิดเผยถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่าส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมและกิจวัตรประจำวันของคน ในมุมมองของนักวิชาการสิ่งแวดล้อม แนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ต้องอาศัยองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่ ข้อมูล (Database) ที่มากเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ หน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกและสื่อสารข้อมูลออกไป การออกนโยบายเพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกคน และการสร้างความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ในการช่วยกันดูแลตักเตือน
ศ.ดร.พิสุทธิ์ ให้ข้อมูลว่า โครงการ Sensor for All เริ่มมาเกือบ 10 ปีแล้ว มีที่มาจากนวัตกรรมโครงข่ายเซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมสำรวจ และวิศวกรรมไฟฟ้า "เราต้องการให้ผลงานนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในวงกว้างและมีความยั่งยืน จึงเกิดเป็นโครงการ Sensor for All ซึ่งโครงการในปีที่ 1-2 เน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดยมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน และสร้างความยั่งยืนให้สังคมไทย"
โครงการ Sensor for All ในปีแรก เริ่มจากการพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 และทดลองติดตั้งในพื้นที่รอบจุฬาฯ โครงการปีที่ 2 มุ่งพัฒนาระบบการส่งและแสดงผลข้อมูล รวมทั้งขยายการตรวจวัดปริมาณฝุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย คือการเคหะแห่งชาติ และ True Corporation นอกจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นแล้ว ยังมีการเผยแพร่องค์ความรู้ โดยจัดทำเป็น Pocketbook "ยุทธการดับฝุ่น" เพื่อปลูกฝังความรู้เรื่องฝุ่นให้กับเยาวชน สำหรับโครงการปีที่ 3 ซึ่งเปิดตัวโครงการเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายวางแผนติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ทั้งหมด 1,000 จุดทั่วประเทศ
ปัจจุบันโครงการ Sensor for All ได้เผยแพร่ข้อมูลคุณภาพอากาศทาง http://sensorforall.eng.chula.ac.th/ มีการรายงานสถานการณ์พร้อมให้ความรู้เรื่องฝุ่น PM2.5 เป็นประจำทุกวันทาง Facebook : Sensor for All นอกจากนี้จะมีการต่อยอดโดยพัฒนาแอปพลิเคชัน Sensor For All บนสมาร์ทโฟน ซึ่งจะเปิดตัวกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ข้อมูลที่น่าสนใจในแอปพลิเคชันนี้ประกอบด้วยข้อมูลคุณภาพอากาศเกี่ยวกับค่าฝุ่น PM2.5 จากเซ็นเซอร์ของคนไทย การคาดการณ์เรื่องคุณภาพอากาศที่มีความแม่นยำ การแบ่งปันความรู้ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน และมีการโต้ตอบกันระหว่างผู้ใช้งานกับทีมงานผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน
"สิ่งที่มีมูลค่ามากที่สุดในยุคนี้ไม่ใช่เงิน แต่เป็นข้อมูล สิ่งที่ทำให้ข้อมูลมีมูลค่า คือผู้เชี่ยวชาญที่มีใจในการทำงาน Sensor for All จะเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน แสดงให้เห็นว่าคนไทยก็สามารถทำได้ ความสำเร็จของโครงการนี้จะขยายผลไปยังภาคส่วนต่างๆ เพื่อการแก้ปัญหาโครงการอื่นๆ เช่น ขยะ พลาสติก และภัยพิบัติธรรมชาติต่อไป" ศ.ดร พิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ และความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ได้ที่
http://sensorforall.eng.chula.ac.th/
https://www.facebook.com/sensorforall/
และพบกับแอปพลิเคชัน Sensor For All จะเปิดใช้งานกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564