กองทัพบก (ทบ.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกาศความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก เพื่อให้พลังงานสะอาดมีศักยภาพในการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศไทย
พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก โดยมี พลโท รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และ ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. เป็นพยานการลงนาม ณ ห้องเบญจนฤมิต อาคารเบญจรังสฤษฏ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก
การร่วมลงนามในข้อตกลงครั้งนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ช่วยลดมลภาวะบนพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการดูแลของกองทัพบกในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศรวมกว่า 4.5 ล้านไร่ อาทิ บริเวณพื้นที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 3 แสนไร่ ซึ่งคาดว่าจะมีความเหมาะสมในการทำโซลาร์ฟาร์ม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้
สำหรับ พลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่เริ่มมีบทบาทสำคัญในการเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า และเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในการลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงภาคครัวเรือนที่มีอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ (new normal) พลังงานไฟฟ้าจึงเป็นพลังงานหลักของหลายภาคส่วน ดังนั้นการปรับยุทธศาสตร์ด้านต้นทุนการผลิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากสามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาช่วยเสริมในระบบไฟฟ้า นอกจากส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ในอนาคตหากเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง
กองทัพบก และ กฟผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานหมุนเวียน จึงทำให้เกิดความร่วมมือกัน เพื่อแสวงหาและพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยและประชาชนได้รับประโยชน์ในเรื่องของการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด อัตราค่าไฟฟ้าลดลง ลดการขาดดุลจากการซื้อไฟฟ้าและนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ เป็นการระดมทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย สร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชน ตลอดจนเป็นการช่วยเกษตรกรไทยในการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรแบบแลกเปลี่ยน (Barter Trade) กับประเทศที่จำหน่ายเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ ดังนั้นการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงงานไฟฟ้าพลังงานทางเลือกในความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยปฏิรูปในเรื่องพลังงานไฟฟ้า และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป