กลุ่มทิสโก้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน จัดแคมเปญ "Fighting Cancer" ร่วมรณรงค์ World Cancer Day 2021 หักรายได้ค่าธรรมเนียมการขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและประกัน สนับสนุนงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 หวังเพิ่มโอกาสการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคร้ายให้กลายเป็นศูนย์
นายชลิต ศิลป์ศรีกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มทิสโก้ นำทีมผู้บริหารและพนักงานร่วมรณรงค์ในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ 2564 หรือ World Cancer Day 2021 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของโรคมะเร็ง และเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและลดผลกระทบจากมะเร็งร้าย ที่ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 20 ปี รวมถึงยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดันต้นๆ ของคนทั่วโลก
ในปีนี้ กลุ่มทิสโก้จึงเดินหน้าจัดแคมเปญ Fighting Cancer ขึ้น โดยหักรายได้ค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งจากการขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและประกันภัย ร่วมสมทบทุนบริจาคเป็นทุนทรัพย์ และเป็นกำลังใจให้กับสถาบันการแพทย์ไทย ในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งให้มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้จากทุกกรมธรรม์ของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง บริจาค 50 บาท และรายได้จากผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่ร่วมรายการทุกๆ 100,000 บาท บริจาค 50 บาท ให้แก่ กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง จุฬาฯ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"นับเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันที่กลุ่มทิสโก้ให้ความสำคัญและสนับสนุนงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งนี้ซึ่งที่ผ่านมาเราสามารถสมทบทุนบริจาครวมทั้งสิ้นกว่า 12 ล้านบาทแล้ว และในปีที่ 4 นี้ เรายังคงตั้งใจและเดินหน้าให้การสนับสนุนต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษาโรคมะเร็งมีความก้าวหน้าจนสามารถเอาชนะโรคร้ายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องขอบคุณนักวิจัยที่มุ่งมั่นและเสียสละ และขอบคุณลูกค้าที่มีส่วนร่วมให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปได้" นายชลิต กล่าว
นายพิชา รัตนธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี จากรายงานสถิติสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2562 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งและเนื้องอกสูงถึง 84,073 คน เพิ่มขึ้น 3,408 คน จากปี 2561 ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยสถานการณ์ในปี 2563 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่จากทั่วโลกสูงถึง 19.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.2 ล้านคน และเสียชีวิตมากถึง 10 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 4 แสนคน ทำให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของภัยคุกคามของโรคร้ายนี้มาก
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถป้องกันหรือลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้สำเร็จ แต่ความก้าวหน้าทางการแพทย์จะทำให้คนไทยมีความหวังว่าจะสามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ เพียงแต่การพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งนั้น ยังต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทุนอีกจำนวนมาก ดังนั้น ทิสโก้จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายความหวังให้กับคนไทย โดยตั้งเป็นเป้าหมายที่จะต้องผลักดันไปตลอด เพราะหากสามารถค้นคว้าจนพบแนวทางการรักษาที่ได้ผลดีขึ้นสำเร็จ นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้รับการรักษาที่ดีขึ้นแล้ว ยังเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้รับการรักษาในราคาที่ถูกลงด้วย
"สิ่งสำคัญที่จะเข้ามาต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างจริงจัง ก็คือนวัตกรรมทางการแพทย์ ถือเป็นความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันสนับสนุน และทิสโก้ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน นอกจากการบริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัยนวัตกรรมการรักษามะเร็งแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการคิดค้นและคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากโรคมะเร็ง รวมถึงการพาลูกค้าไปลงทุนในกองทุนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อเป็นการสนับสนุนในทางอ้อมด้วย" นายพิชากล่าว
ขณะที่นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการอำนวยการ บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า นวัตกรรมทางการแพทย์เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และจับตามองอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเสมือนหนทางที่จะช่วยให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศมีนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถรักษา หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้หลายชนิด ขณะที่ประเทศไทยเอง อยู่ระหว่างการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของคนไทย รวมถึงลดข้อจำกัดด้านค่ารักษาพยาบาลที่ยังอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยควรให้การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง
โดยในปี 2564 นี้ บลจ.ทิสโก้ขอเป็นส่วนหนึ่งในการให้การสนับสนุนกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง จุฬาฯ มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท ขณะเดียวกันในแง่การลงทุนนั้น การเลือกลงทุนในธุรกิจ "นวัตกรรมทางการแพทย์" ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งนอกจากจะเปิดโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นด้วย