วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี ตรงกับ วันมะเร็งโลก (World Cancer Day) จากรายงานขององค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่ามีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกว่า 9.6 ล้านคนต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้าดังนั้น การตระหนักถึงวิธีการป้องกันและใส่ใจสุขภาพ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่ามะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตแบบที่ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อนานเข้าก็ก่อเกิดเป็นเนื้อร้ายจนขยายลุกลามไปยังร่างกายส่วนอื่นๆ ผ่านทางต่อมน้ำเหลืองหรือกระแสเลือด แต่ก็ไม่ใช่เนื้องอกทุกชนิดที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นมะเร็งเสมอไป โรคนี้ถือเป็นเรื่องใกล้ตัว จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้นทุกๆ ปี แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีผู้รอดชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยเช่นกัน โรคมะเร็งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเราทุกคนสามารถรับรู้และทำเข้าใจอย่างถูกต้องได้ผ่านแคมเปญสากลที่ชื่อว่าI AM & I WILL : Together, all our actions matter จากสมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (UICC) เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งได้เช่นกัน
ปัจจุบันในประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นราว 5 % ในทุกๆ ปี โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ยปีละ 8 หมื่นคน และพบคนไข้รายใหม่ประมาณ 1.7 แสนคนต่อปี โดยสาเหตุของการเกิดมะเร็งนั้นก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ ความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่มีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ5-10% และอีก 90-95% นั้นเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น รังสียูวีจากแสงแดด เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียบางชนิด รังสีเอกซเรย์ การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ รวมถึงเกิดจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การกินอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารที่ผ่านกระบวนการรมควันหรือการหมักดองรวมถึงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
หลายครั้งที่ร่างกายเจ็บป่วยหรือแสดงอาการแปลกๆ เรามักไปหาข้อมูลอาการของโรคจากในอินเทอร์เน็ตจนทำให้บางครั้งอาจได้ข้อมูลที่ผิดๆ ดังนั้นสมาคมต่อต้านโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา จึงได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าถ้าร่างกายมี 7 สัญญาณอันตราย เกิดขึ้นต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์ ได้แก่ 1.ระบบขับถ่ายเปลี่ยนไป 2.แผลที่รักษาไม่ยอมหาย 3.ร่างกายมีก้อนตุ่ม 4.กลืนกินอาหารลำบาก 5.มีเลือดออกผิดปกติจากทวารต่างๆ 6.มีการเปลี่ยนแปลงของไฝและหูด และ 7.ไอหรือเสียงแหบเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และรับการรักษาที่ตรงจุดอย่างทันท่วงที
การป้องกันโรคมะเร็งด้วยหลัก"5 ทำห่างไกลมะเร็ง"ทำได้โดย "5 ทำ" คือ 1.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 2.ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด 3.กินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารที่บริโภคแต่ละมื้อ 4.กินอาหารให้หลากหลาย 5.ตรวจร่างกายเป็นประจำ
ในช่วงเวลานี้ผู้ป่วยมะเร็งควรดูแลเรื่องสุขภาพของตัวเองให้มากขึ้นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรักษาหรือให้คีโม ควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน ให้สวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไว้ตลอดเวลา การใส่หน้ากากอนามัย ถ้าเป็นหน้ากากชนิดผ้าต้องเป็นผ้าที่มีคุณภาพดี สามารถป้องกันละอองฝอยในอากาศได้ และไม่ควรอยู่ในสถานที่แออัดโดยไม่จำเป็น ควรเว้นระยะห่าง (Social Distancing)กับคนรอบข้าง ทานอาหารที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ เน้นโปรตีนเป็นหลัก และออกกำลังกายแบบพอเหมาะที่สามารถทำเองได้ที่บ้านเพียงแค่ทุกคนรักษาร่างกายให้แข็งแรง ทำจิตใจให้แจ่มใส ก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้
โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ มีความตั้งใจในการรักษาโรคมะเร็งและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย พร้อมทั้งให้การดูแลแบบครบองค์รวมในทุกขั้นตอน ให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว พร้อมส่งกำลังใจให้กับทุกคนว่า "มะเร็งมีโอกาสในการรักษาให้หายได้"สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ โทร.1719 หรือ www.wattanosothcancerhospital.com