ผลงานวิจัยระบุ ประเทศไทยให้ความสนใจในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มากที่สุดในอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2021 14:47 —ThaiPR.net

ผลงานวิจัยระบุ ประเทศไทยให้ความสนใจในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มากที่สุดในอาเซียน

นิสสัน อาเซียน ร่วมมือกับ ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน เผยถึง ผลสำรวจเทรนด์ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยประจำปี 2564

ผลวิจัยล่าสุดของฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน (Frost & Sullivan) องค์กรที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และงานวิจัยทางธุรกิจชื่อดังระดับโลก เปิดเผยว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีความต้องการ มีความสนใจ และตื่นตัวต่อระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ผลวิจัยชี้ให้เห็นถึง 3 เทรนด์หลักที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้แก่ ความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความเข้าใจที่ดีขึ้นในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า และกระแสที่กำลังมาของอี-พาวเวอร์ (e-POWER) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมด้านรถยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต

โดยงานวิจัยด้านระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2561 เพื่อเก็บข้อมูลเปรียบเทียบผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ จากนั้นในเดือนกันยายน 2563 บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ได้ทำการศึกษาอีกครั้งจาก 6 ตลาดในภูมิภาคอาเซียน ประกอบไปด้วย ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ทั้งนี้ งานวิจัยฉบับที่ 2 เพิ่งได้รับการเผยแพร่วันนี้ ในงานสัมมนาออนไลน์ "นิสสัน ฟิวเจอร์ส - เดินหน้าสู่สังคมแห่งการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และอนาคตแห่งวงการรถยนต์ (Nissan FUTURES - Electrification and Beyond)" งานสัมมนาออนไลน์ระดับภูมิภาค โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งผู้บริหารในอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่จากภาครัฐ และสื่อมวลชน

สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจพบว่า มีจำนวนร้อยละ 43 ของผู้ใช้รถยนต์ที่ไม่ใช่พลังงานไฟฟ้า จะเลือกพิจารณารถยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอนหากจะต้องซื้อรถยนต์คันต่อไปในอีกสามปีข้างหน้า ผลสำรวจยังระบุอีกว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความกระตือรือร้นในการพิจารณาเลือกซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

แต่ผลงานวิจัยที่น่าสนใจที่สุด คือ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ารวมถึงวิธีการใช้งานเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 53 โดยวัดจากผู้ที่ร่วมตอบแบบสำรวจ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า จำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 33 ของผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ จะเลือกพิจารณาซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อเทียบกับห้าปีที่ผ่านมา

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นแรงผลักดันใหม่ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้า
จากการสำรวจพบว่า ปัจจัยอันดับต้น ๆ ในประเทศไทยที่ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า คือ การใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้นจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอย่างมาก ซึ่งกระแสสร้างโลกสีเขียวนี้ทำให้ร้อยละ 90 ของผู้ใช้รถตระหนักว่า 'รถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับสิ่งแวดล้อม' ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคอาเซียน (ร้อยละ 88) เล็กน้อย ในขณะที่ผู้ร่วมตอบแบบสำรวจคนไทยมากถึงร้อยละ 91 กล่าวว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีผลต่อการพิจารณาเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ 3 ใน 4 ของผู้ใช้รถในประเทศไทยกล่าวว่า แหล่งพลังงานหมุนเวียนจะช่วยส่งเสริมให้มีการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ใหม่

งานวิจัยนี้ยังเผยถึงกระแสการตื่นตัวต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังสูงขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้นทำให้พวกเขามีส่วนช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมได้อย่างไม่ต้องสงสัย ในปี 2563 ร้อยละ 39 ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม "นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับงานวิจัยเดียวกันเมื่อปี 2561

อุปสรรคต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าลดลง เหลือเพียงแค่เรื่องเดียว
เมื่อทำการสำรวจกับคนไทยจำนวนหนึ่งพบว่า ผู้บริโภคคลายกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคต่อการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าน้อยลงในช่วงปี 2561 ถึง 2563 โดยผู้ตอบแบบสอบถามกังวลเรื่องพลังไฟฟ้าจะหมดระหว่างทางก่อนไปถึงสถานีชาร์จ ซึ่งผลการสำรวจลดลงมาจากร้อยละ 58 ในปี 2561 เหลือร้อยละ 53 ในปี 2563 เช่นเดียวกับข้อสงสัยต่อเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าที่ลดลงมาจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 40 ในปี 2563

แต่อย่างไรก็ตาม จากกลุ่มสำรวจพบว่า ผู้ใช้รถในไทยเห็นว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นปัจจัยหลักสำคัญเพียงเรื่องเดียว ที่ยังคงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561 นั่นก็คือ "ความกังวลต่อระบบแท่นชาร์จไฟฟ้าสาธารณะที่มีอยู่อย่างจำกัด" ในขณะเดียวกันข้อกังวลนี้กลับลดลงในทุกประเทศที่มีการสำรวจ โดยเฉลี่ยร้อยละ 9 และนอกจากนี้ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นถึง เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งก็คือเครื่องยนต์แบบ อี-พาวเวอร์ (e-POWER) ที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยไม่ต้องชาร์จไฟฟ้า

เทรนด์ของระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในอนาคต
จากผลสำรวจระบุว่า หนึ่งในเทรนด์ที่น่าจับตามองในอนาคตสำหรับระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ได้แก่ เทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ของนิสสัน ที่มอบประสบการณ์ขับขี่แบบรถยนต์ไฟฟ้าแก่ผู้บริโภค โดยไม่ต้องชาร์จไฟฟ้าจากภายนอก

อีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนผลการสำรวจนี้คือ ร้อยละ 76 ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยระบุว่า อุปสรรคต่อการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า คือ สถานีชาร์จไฟฟ้าที่จำเป็นต้องมีมากขึ้นในเขตบริเวณที่พักอาศัย และความกังวลเกี่ยวกับระบบแท่นชาร์จไฟฟ้าตามแหล่งสาธารณะ (ร้อยละ 47) อีกด้วย

ดังนั้น เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ กับระบบไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และระบบสันดาปภายใน (Internal Combustion Engine Vehicle: ICE Vehicle) แล้ว ปัจจัยที่เป็นสิ่งดึงดูดสำหรับผู้ใช้รถในไทยมากที่สุด คือเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ ซึ่งให้สมรรถนะเฉกเช่นรถยนต์ไฟฟ้าโดยไม่ต้องชาร์จไฟจากภายนอก และเมื่อลูกค้าได้เรียนรู้ว่าเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ได้อย่างไร ผู้ตอบแบบสำรวจถึงร้อยละ 82 ระบุว่า ขุมพลังอี-พาวเวอร์นั้น "น่าสนใจมาก" และ "ค่อนข้างน่าสนใจ" เป็นรองแค่รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่เท่านั้น

ภูมิภาคอาเซียนที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
ผลการวิจัยของประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจเรื่องการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคอาเซียน จากงานวิจัยผู้บริโภคในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ พบว่า จำนวนร้อยละ 66 ของผู้บริโภคในภูมิภาคเชื่อว่าพวกเขาไม่อาจหลีกเลี่ยงการหันมาใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งสิ่งนี้จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในอนาคตอันใกล้

สอดคล้องกับผลวิจัยในปี 2561 ผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดจากงานวิจัยล่าสุดพบว่ามากกว่า 3 ใน 4 (ร้อยละ 77) ได้ระบุว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการมีแท่นชาร์จติดตั้งตามอาคารที่พักอาศัย (ร้อยละ 75) คือสองแรงจูงใจสำคัญในการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า สำหรับประเทศไทย แรงจูงใจที่มาเป็นอันดับหนึ่งคือ สถานีแท่นชาร์จในเขตบริเวณที่พักอาศัย (ร้อยละ 76) ตามด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี (ร้อยละ 73) และช่องทางพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (ร้อยละ 50)

"จากผลงานวิจัยของเราจะเห็นได้ว่า การมาของเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์นั้นมีแนวโน้มว่าจะขยายวงกว้างสู่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ถึงแม้ว่าอี-พาวเวอร์จะเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ แต่สำหรับผู้ที่ตั้งใจมองหารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้งานกลับรู้สึกว่าเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ของนิสสันนั้นน่าสนใจ รวมถึงยังให้ความสนใจที่จะซื้อรถยนต์นิสสันอี-พาวเวอร์ ภายหลังจากที่ได้รับฟังถึงระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีความแตกต่าง และเข้าใจถึงฟีเจอร์การใช้งานต่าง ๆ ของเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ของนิสสัน" วิเวก ไวเดีย พันธมิตรทางธุรกิจ รองประธานอาวุโส ฝ่ายนวัตกรรมการขับเคลื่อนอัจฉริยะ บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน เอเชียแปซิฟิก กล่าว

เกี่ยวกับ งานวิจัย
งานวิจัยเรื่อง "อนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Future of Electrified Vehicles)" จัดทำขึ้นโดยบริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน เมื่อเดือนกันยายน 2563 ในหกตลาดภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ผลการวิจัยวัดจากการตอบแบบสอบถามทางออนไลน์ของลูกค้าจำนวน 3,000 คน จากผู้ใช้รถยนต์ในเมืองต่าง ๆ ตามกำหนด เพื่อเข้าใจในการตื่นตัว ทัศนคติ พฤติกรรม และการรับรู้ของผู้บริโภคในเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้า "รถยนต์พลังงานไฟฟ้า" ในงานวิจัยนี้หมายถึง รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าระบบปลั๊กอินไฮบริด และระบบอี-พาวเวอร์ ทั้งนี้ไม่รวมถึงรถยนต์ระบบไฮบริด งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่ศึกษาต่อเนื่องมาจากงานวิจัยที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ