ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ มูลนิธิกระจกเงา กำหนดจัดงานสัมมนา “การจัดการอาสาสมัครในสภาวะวิกฤต”

ข่าวทั่วไป Monday December 26, 2005 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ มูลนิธิกระจกเงา
แถลงการณ์
อาสาสมัครในสภาวะวิกฤติ
เนื่องในการสัมมนา “การจัดการอาสาสมัครในสภาวะวิกฤติ”
เช่นเดียวกันกับประสบการณ์สึนามิเมื่อปีที่แล้ว...เหตุการแผ่นดินไหวที่โกเบ ไทเป หรือเหตุการณ์วาตภัยเฮริเคนแคททารีน่าในสหรัฐอเมริกา...หรือบรรดามหาวิกฤติภัยในมุมต่างๆของโลก...คนกลุ่มแรกที่พุ่งกายโถมใจเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ก็คือ “อาสาสมัครในสภาวะวิกฤติ”.....!!!
ความรัก ความเมตตากรุณา และน้ำใจ เป็นคุณค่าของคนทุกชาติภาษา ที่พร้อมแสดงออกมาให้ประจักษ์แม้ท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดูเหมือนจะส่งเสริมให้ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเอาตัวรอด ต่างคนต่างเอาชนะกัน
...แทบจะกล่าวได้ว่าน้ำใจของคนเป็นธรรมชาติที่ถูกกล่อมเกลาเข้าไปอยู่ในเลือด ในเนื้อ ในชีวิต ในจิตวิญญาณ
อุบัติภัยสึนามิสร้างซากความเศร้าโศรก...แต่...ท่ามกลางความอาดูรย์นั้น ได้กลับกลายเป็นเตาปฏิกรณ์สร้างพลังมหาศาลที่เราเรียกกันว่า “จิตอาสาสมัคร”
โลกเห็นชัดว่าเมื่อมีภัย เราต้องการอาสาสมัคร
โลกได้รู้ว่ายิ่งภัยหนัก ปริมาณและคุณภาพของอาสาสมัครยิ่งสูงตาม
เห็นได้จากขบวนอาสาสมัครไทยเทศจำนวนมหาศาลที่มีร่วมประสบการณ์กู้ภัยช่วยเหลือตั้งแต่ช่วงวันแรกของสถานการณ์
“จิตอาสา” นี่เป็น “จิตใหญ่”...! ที่เบิกบานท่ามกลางสาธารณวิกฤติ
หากเปรียบไป “งานอาสาสมัคร” ก็ประหนึ่งดัง “โอสถพิสดาร” ที่รักษาอาการปวดร้าวเมื่อคนหนึ่งคนได้พบกับความทุกข์ร้อนของอีกคน...หรือ...อีกหลายๆคน
๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ เป็นวันที่เครือข่ายพันธมิตร ร่วมกันรณรงค์ให้เป็นการเริ่ม “วันจิตอาสา” ที่มีผลกระทบต่อเนื่อง! ยาวไปตลอดปี ๒๕๔๙ เพื่อส่งเสริมให้ “งานอาสาสมัคร” เป็นส่วนหนึ่งในกระแสวัฒนธรรมในสังคม โดยอาศัยประวัติศาสตร์การหลั่งไหลของมหาชนที่เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครสึนามิในวันเดียวกันเมื่อปี ๒๕๔๗
ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะที่เป็นองค์กรอาสาสมัคร ขอสนับสนุนแนวคิดและความพยายามของของพันธมิตรจิตอาสา และ ของบุคคลหรือองค์กรทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันพัฒนากระแส ปรากฏการณ์ ให้งานอาสาสมัครได้สอดแทรกเข้าไปในทุกอนูของสังคม จนกลายเป็นความปกติอันทรงคุณค่าส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของสังคม
ในฐานะอาสาสมัคร เราอยากเห็น
(๑) คนทุกคนยินดีที่จะแสดงน้ำใจง่ายๆ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในทุกโอกาส ทั้งต่อตนเอง ต่อสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ในสถานที่สาธารณะ
(๒) หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจเอกชน ส่งเสริมให้สมาชิกขององค์กรได้มีโอกาสทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม ในฐานะงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของเวลาทำงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดภาวะ “คนดี สังคมดี” บนความเชื่อว่า “คนดี เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากระบวนการผลิตในองค์กร”
(๓) รัฐบาล ในฐานะองค์กรหลักในการบริหารประเทศ จำเป็นต้องมีนโยบายและเป็นเจ้าภาพ ที่มีภารกิจในการจัดตั้งและบริหาร “ศูนย์อาสาสมัครแห่งชาติ” มีหน้าที่เตรียมความพร้อม ทั้งในแง่ของงบประมาณ การประสานงาน การฝึกฝน การซักซ้อม การเตรียมความพร้อม
โดยความพร้อมดังกล่าวจำเป็นต้องเป็นความพร้อมตลอดเวลา ทั้งในสภาวะปกติ และ ในสภาวะวิกฤติสาธารณภัย...!!! มิไช่เป็นเพียงแรงงานอาสาสมัครเสริมเฉพาะกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น
(๔) สังคมโดยรวมมีความพร้อมอยู่เสมอที่จะพัฒนาและสนับสนุนกระแสจิตสำนึกอาสาสมัคร เพื่อรองรับความต้องการทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ คล้ายกับการที่กองทัพที่ต้องมีทั้งทหารกองเกิน ทหารกองหนุน และทหารประจำการจากเหตุพิบัติภัยสึนามิเมื่อปลายปีที่แล้ว การเกิดแผ่นดินไหว การเกิดอุทกขภัยในภาคเหนือ/ภาคใต้ การเกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก...เราไม่อาจกล่าวได้ว่า สังคมของเรามีความปลอดภัยเต็มที่
แต่จากเหตุการณ์พิบัติภัยสึนามิในปีที่ผ่านมา...เราได้เห็นคุณค่า และ ปริมาณ ของผู้คน ที่พร้อมจะเข้าสู่ภารกิจอาสาสมัคร อย่างน่าอัศจรรย์ “งานอาสาสมัคร” จึงไม่ใช่เป็นเพียงงานของคนมีน้ำใจดีเท่านั้น หากแต่ “งานอาสาสมัคร” เป็นความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ที่จะต้องส่งเสริมและบำรุงรักษาให้เจริญงอกงามควบคู่ไปกับสังคมไทยของเรา.....ด้วยจิตคารวะ
กำหนดการงานสัมมนา
เรื่อง “การจัดการอาสาสมัครในสภาวะวิกฤต”
วันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2548 ณ โรงแรมอันดาบุรี
9.30 น. เริ่มงานสัมมนา โดยมีการนำปาฐกถา จาก นพ.บัญชา พงษ์พานิช
10.30 น. วิทยากรร่วมเสวนาหัวข้อ “การจัดการอาสาสมัครในสภาวะวิกฤต”
12.00 น. พักรับประทานอาหารร่วมกัน
13.00 น. ร่วมฟังการถอดประสบการณ์ของอาสาสมัครจาก คุณบิณฑ์ บันลือฤทธิ์
และวิทยากรตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมฟังสัมมนา
16.00 น. สรุปการสัมมนา แถลงข่าวและปิดการสัมมนา
*หมายเหตุ : รายชื่อวิทยากรและกำหนดการนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ภายหลัง
วิทยากร :
1. คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานมูลนิธิกระจกเงา
2. นพ. บัญชา พงษ์พานิช ประธานกลุ่ม Save Andaman
3. รศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
4. ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ สมาชิกเครือข่ายจิตอาสา
5. นพ. พร พงศ์พนิตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตะกั่วป่า
6. คุณบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ และคุณสมศักดิ์ ปาลวัฒน์ มูลนิธิร่วมกตัญญู
7. คุณวินัย ประดิษฐ์กนก และ คุณกฤษธรรม กสิกรรังสรรค์ มูลนิธิปอเต็กตึ้ง
8. คุณอรัญญา ภัคภัทร มูลนิธิแต เด ซอม
9. ผู้จัดการโครงการสึนามิ Save the children UK
10. คุณนาโอกิ สุกิโอกะ อาสาสมัครผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ชาวญี่ปุ่น
11. คุณอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้อำนวยการกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย
องค์กรประสานงาน
โครงการฅนอาสา สำนักงานกรุงเทพ
มูลนิธิกระจกเงา 140 อาคารแปซิฟิคเพลส1 ชั้น12 ห้อง 1202 ถนนสุขุมวิท
แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพ 10110 โทร 0-2255-5530 ถึง 2 โทรสาร 0-2255-5530
ผู้ประสานงาน : วรวุฒิ ชูอำไพ 0-9749-9466--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ