ถึงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นแฟนกีฬาแบดมินตันหรือไม่ แต่คนไทยทั้งประเทศก็ได้ยินและรู้จักชื่อ"บาส-ปอป้อ" เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักแบดมินตันคู่ผสมทีมชาติไทย ที่สร้างประวัติศาสตร์คว้า 3 แชมป์ติดต่อกันในสามสัปดาห์ ในการแข่งขันที่เพิ่งจบเมื่อสัปดาห์ก่อน
โดย 3 แชมป์ที่นักกีฬาคู่ผสมมือ 2 โลกชาวไทยทำได้ในครั้งนี้คือการแข่งขัน โยเน็กซ์ไทยแลนด์โอเพ่น โตโยต้าไทยแลนด์โอเพ่น และ บีดับบลิวเอฟเวิร์ลทัวร์ไฟน่อล ที่เป็นการแข่งขันแบดมินตันระดับสูงสุด เหมือนกับที่เรารู้จักรายการแกรนด์สแลมในกีฬาเทนนิส หรือ รายการระดับเมเจอร์ในกีฬากอล์ฟ
ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้"บาส-ปอป้อ" กลายเป็นขวัญใจและไอดอลของคนไทยจาก SCG ต่อจาก "โปรเม" เอรียา จุฑานุกาล โปรสาวนักกอล์ฟชื่อดัง
แต่กว่าเส้นทางของนักแบดมินตันทั้งคู่จะมาถึงจุดแห่งความสำเร็จนี้ ต้องบอกว่าไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ และไม่มีทางลัด หากแต่มาจากการทำงานหนัก ความทุ่มเทและการเอาใจใส่จากทุกฝ่ายที่ทำงานแบบทีม โดยใครที่ชมการถ่ายทอดสด จะเห็นว่าชัยชนะล่าสุดได้มาจากการทุ่มเทที่เสียเหงื่อ เสียน้ำตาและ เสียเลือด
สำหรับ "ปอป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ถือเป็นผลผลิตคนแรกๆของ "เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่" โดยเป็นหนึ่งในนักแบดมินตันรุ่นแรกของสถาบันแบดมินตันเอสซีจี นับแต่ก่อตั้งในปี 2550 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากเป็นนักกีฬาหญิงเดี่ยว ซึ่งก็ประสบความสำเร็จถึงขั้นเคยคว้าแชมป์หญิงเดี่ยวกีฬาโอลิมปิกเยาวชน แชมป์ระดับอาชีพรายการยูเอสโอเพ่น และเมื่อเล่นประเภทหญิงคู่ ก็เคยคว้าแชมป์ไซอัดโมอี้อินเตอร์เนชั่นแนลที่อินเดียและไทยแลนด์โอเพ่น
ส่วนในประเภทคู่ผสม ที่ "ปอป้อ" ลงเล่นกับนักกีฬาหลายคน ก่อนจะมาลงตัวกับ"บาส"เดชาพล พัววรานุเคราะห์ ที่เป็นสมาชิกของ "เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่" รุ่นน้องคือปี 2554 และทำผลงานเป็นนักกีฬาคู่ผสมของไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยเมื่อปี 2019 ได้เข้าขิงชนะเลิศแบดมินตันชิงแชมป์โลก ก่อนที่จะแพ้ จาวซีเว่ย กับ หวงหย่าเฉียง นักแบดมินตันคู่ผสมมือหนึ่งโลก และก่อนพักการแข่งขันยาวนานเกือบ 10 เดือนเมื่อปีก่อน ก็เป็นรองแชมป์ ออลอิงแลนด์ ที่ถือเป็นทัวร์นาเมนต์ใหญ่ที่สุดในโลกที่อดีตเคยถือเป็นการชิงแชมป์โลกอย่าง ไม่เป็นทางการ และเปิดฉากปีนี้ด้วยการคว้าแชมป์สามรายการในประเทศไทยจนทั่วโลกรู้จัก
สำหรับ "บาส" เดชาพล พัววรานุเคราะห์ ก็เป็นผลผลิตของ "เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่" อีกคนที่ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ระดับเยาวชน เมื่อจับคู่ "สกาย" กิตินุพงษ์ เกตุเรน คว้าแชมป์ชายคู่เยาวชนโลกเมื่อปี 2557 รวมทั้งเหรียญทองชายคู่ซีเกมส์เมื่อปี 2560 ด้วยชัยชนะเหนือ ออง ยิว ซิน กับ เตียว อี ยี่ ขวัญใจเจ้าภาพมาเลเซียในรอบชิงแบบสุดมัน ก่อนจะมาลงตัวเลือกเล่นเฉพาะประเภทคู่ผสมหลังจับคู่กับ "ปอป้อ"
ความสำเร็จนี้ต้องยกให้ "โค้ชโอม" เทศนา พันธ์วิศวาส หัวหน้าผู้ฝึกสอน "เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่" ผู้หลงใหลและหลงรักแบดมินตันและตัดสินใจออกจากรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อตามหาความฝันและประสบความสำเร็จล้นหลามทั้งในฐานะผู้เล่นและผู้ฝึกสอน
ใครที่ได้ดูการถ่ายทอดสด คงคุ้นกับชายร่างใหญ่ที่มาแนะนำและแก้เกมให้กับนักกีฬาแบบพี่สอนน้องในช่วงพักเบรกทุกครั้ง..นั่นและโค้ชโอม
ด้วยสายตาและมุมมองที่มองเห็นศักยภาพนักกีฬา "โค้ชโอม" จึงเลือกที่จะให้"บาส"มาลงเล่นเพียงประเภทคู่ผสมกับ"ปอป้อ" เนื่องจากนักกีฬาชาย หากต้องลงแข่งขันหลายประเภทจะเป็นงานหนักมาก ขณะที่"ปอป้อ" ถือเป็นการเลือกที่ลงตัว เพราะประสบการณ์ในการเป็นนักกีฬาหญิงเดี่ยว ทำให้เมื่อต้องออกมาช่วยในการยืนข้างหลัง "ปอป้อ"สามารถเปิดเกมรุกได้
ต้องขอเสริมรายละเอียดว่า"แบดมินตัน"เป็นกีฬาที่ลูกพุ่งเร็วที่สุดในโลก นั่นคือนักกีฬาชาย มีสถิติสูงสุดถึง 342 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนนักกีฬาหญิงมีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 296 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะที่กีฬาอื่นนั้น พบว่า ลูกกอล์ฟ 310 กม./ชม. ลูกเทนนิส 270 กม./ชม. ลูกปิงปอง 250 กม./ชม. ลูกฮอกกี้น้ำแข็ง 200 กม./ชม. ลูกเบสบอล (ตี) 180 กม./ชม. ลูกเบสบอล (ขว้าง) 167 กม./ชม. ลูกฟุตบอล 150 กม./ชม. และ ลูกวอลเล่ย์บอล 115 กม./ชม.
ความเร็วของกีฬานี้ ทำให้การเล่นแบดมินตันระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นักกีฬาคู่นี้ของไทยสามารถทำได้ดีเพราะการฝึกซ้อมมาอย่างดี บวกกับการแก้เกมร่วมกันของนักกีฬาและโค้ช ที่ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าใน แต่ละเกม หรือการเตรียมตัวมาก่อนลงสนาม
ใครที่ดูการถ่ายทอดสดรอบชิงชนะเลิศ จะเห็นว่าตอนพักเกม "ปอป้อ"บอก"บาส"ว่าคู่เกาหลีชอบเล่นแบบไหน เราจึงควรจะเล่นแบบไหน และสุดท้ายก็ทำสำเร็จ ทั้งที่เกมสอง คู่ไทยแพ้ขาดลอยถึง 8-21 จึงต้องปรับรูปแบบและแผนการเล่นเพื่อรับสภาพกับทิศทางลมในสนามที่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของลูก
ที่ต้องกล่าวถึงก็คือ เบื้องหลัง"ความสำเร็จ"ของ"บาส-ปอป้อ"ที่สำคัญที่สุดก็คือการทำงานระบบทีม หรือทำงานแบบ Team Work ของ "เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่" ตั้งแต่ทีมวิทยาศาสตร์การกีฬา ฝ่ายโภชนาการ จนถึงเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะการแข่งขันสามรายการที่ทั้งคู่ได้แชมป์ในการแข่งขันที่ยาวนานต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม จนถึงวันที่ 31 มกราคม นักกีฬาจะต้องมีความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ กับการลงเล่นยาวนาน 3 สัปดาห์ต่อเนื่อง โดยได้พักช่วงรอยต่อแต่ละรายการเพียงวันสองวัน
สมัยก่อนมีคำกล่าวว่า "ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง" แต่ถึงวันนี้ต้องบอกว่า "ดูกีฬาแล้วนำมาพัฒนาตัวเอง" โดยเริ่มจากการเชียร์"บาส-ปอป้อ"นี่แหละ