วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.000 น. นายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ครั้งที่ 21/2564 โดยนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมฯ โดยเป็นการร่วมประชุม Video Conference กับศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคระดับอำเภอ ทั้ง 12 อำเภอ ณ ห้องประชุมพระธาตุนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) โดยที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสาธารณสุขจังหวัดนครพนม พิจารณาการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้มงวดและทำต่อเนื่องในการดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันการแพร่เชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม รายงานให้ที่ประชุมทราบข้อมูลจากกรมควบคุมโรครายงานภาพรวมสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดนครพนม (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 07.00 น.) ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 1 ราย ผู้ป่วยสงสัยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI : Patient Under Investigation) ปี 2564 รายใหม่ 3 ราย ยอดสะสม 103 ราย คงเหลือติดตามต่อเนื่อง 21 ราย รอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 0 ราย (สิ้นสุดการติดตามวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564) การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) ผู้เดินทางเข้ามาจังหวัดนครพนม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เก็บตัวอย่างส่งตรวจ 5,448 ราย ผลการตรวจไม่พบเชื้อ 5,353 ราย รอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 95 ราย ผู้กักกันในสถานที่ที่จังหวัดจัดให้ (Local Quarantine) ปี 2564 รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 10 ราย คงเหลือติดตาม จำนวน 6 ราย (สิ้นสุดการติดตาม วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564)
ในส่วนของการติดตามผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดมหาสารคาม (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564) มีจำนวนทั้งสิ้น 39 คน และผู้เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด เข้มงวด 4 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และพื้นที่ควบคุมสูงสุด 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และอ่างทอง (ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564) มีตัวเลขผู้เดินทางรายใหม่ 118 ราย ยอดสะสมทั้งหมด 2,879 ราย เดินทางกลับแล้ว 401 ราย ครบกำหนดกักตัว 1,365 ราย คงเหลือติดตาม 1,113 ราย (สิ้นสุดการติดตาม วันที่ 17 กุมภาพันนธ์ 2564 ข้อมูล ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 20.00 น.)
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจกลุ่มเป้าหมายและความต้องการวัคซีน ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานและจัดทำแผนปฏิบัติการ ชี้แจงและอบรมบุคลากรในระบบบริการและภาคเอกชน รวมทั้ง อสม. โดยจะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ชี้แจงและแนะนำประชาชนรวมทั้งผู้นำชุมชนให้มีความพร้อม จัดระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามแผน พร้อมซักซ้อมแผนและสอบทานความพร้อมก่อนเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนเข็มแรก
อนึ่ง คณะรัฐมนตรีอนุมัติการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 สำหรับคนไทย ในการจองซื้อล่วงหน้าวัคซีน แอสตราเซนเนกา (AstraZeneca) โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง วงเงิน 2,741,336,000 บาท และให้กรมควบคุมโรคเร่งดำเนินการตามขั้นตอน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) กรอบวงเงินทั้งสิ้น 6,216.25 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 12 มกราคม 2564 ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดสแล้ว และเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีน COVID-19 ของบริษัท AstraZeneca Thailand เป็นประเภทยาควบคุมพิเศษ ที่สามารถนำหรือสั่งเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยต้องปฏิบัติตามประกาศ อย. เรื่อง การอนุญาตผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์แบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรค ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงดำเนินการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca โดยวัคซีนล็อตแรก จำนวน 50,000 โดส จะส่งมอบให้ไทยภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
นายอนุชา บุรพาชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า วัคซีนโควิด-19 ซึ่งไทยจะได้รับภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่จะได้จำนวนเท่าไรและจากประเทศใดนั้น กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการทั้งในส่วนของวัคซีนแอสตราเซนเนกาที่จะเข้ามา 26 ล้านโดส และวัคซีนซิโนแวก ที่ยังไม่สามารถระบุจำนวนตัวเลขได้เพราะอยู่ในขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับ อย.
ส่วนการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 จากแหล่งอื่น ๆ นั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ รวมถึงการจัดลำดับกลุ่มประชาชนผู้ที่จะได้รับวัคซีน โดยมีคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นมาร่วมพิจารณาเพื่อนำเสนอกลับมาให้ที่ประชุม ศบค.ได้รับทราบ รวมทั้งเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น