วิกฤติ COVID-19 ส่งผลกระทบให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลทั้งในเรื่องสุขภาพกาย และจิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม
ท่ามกลางปัญหาความตึงเครียดที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จะดีแค่ไหนหากเราได้หยุดความคิดเพื่อที่จะได้อยู่กับตัวเองสักพัก แล้วบอกรักตัวเอง และให้กำลังใจตัวเอง เพื่อให้สามารถฟื้นขึ้นมาจากความวิตกกังวลที่กำลังเผชิญอยู่ และพร้อมที่จะข้ามผ่านอุปสรรคขวากหนาม แล้วกลับมาสู้ชีวิตได้ต่อไปอีกครั้ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ได้แนะนำวิธีบอกรักตัวเอง ด้วยการลองฝึกพูดกับตัวเอง แล้วฟังเสียงตัวเอง เพื่อให้เกิดสติและคิดบวก โดยในทางกิจกรรมบำบัด ถือเป็นการฝึก "การสื่อสารความคิดดีภายในใจ" หรือ "Meta-skil" เพื่อการวางแผนชีวิตให้สามารถปรับตัวได้ในสถานการณ์วิกฤติ โดยสามารถเริ่มฝึกได้ง่ายๆ จากแอปพลิเคชัน 4voices ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อสาธารณประโยชน์ สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งในระบบ Android และ iOS
ซึ่งในสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนในสังคมควรอยู่ร่วมกันด้วยความรักความเข้าใจ การฝึกคิดบวกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม ขอให้เราคิดบวก รักตัวเอง ดูแลตัวเอง และหากฝึกคิดบวกให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น และรักผู้อื่นได้ด้วย สังคมจึงจะอยู่รอด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง ได้กล่าวแนะนำวิธีบอกรักตัวเอง และฝึกคิดบวกเพื่อชีวิตที่ดีมีความสุขว่า สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ตื่นนอน จากการได้สงบนิ่งอยู่กับตัวเองโดยไม่คิดอะไรสักพัก ก่อนลุกขึ้นทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ หรืออาจลองหาเวลาเพียง 20 นาที นั่งใต้ต้นไม้ใหญ่ให้ตัวเองได้สัมผัสกับความร่มรื่นและสงบสบายไปกับธรรมชาติรอบตัวโดยที่ไม่คิดอะไร จะทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น จากการที่สมองได้พักจากการหยุดคิด แม้เพียงครู่เดียวก็สามารถส่งผลทำให้คลื่นสมองของเราสงบและคลายกังวลลงได้
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง ได้มีแนวคิดที่จะร่วมกับ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) ริเริ่มโครงการพัฒนาบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการตรวจสุขภาพสมอง เพื่อส่งเสริมการคิดเห็นใจกัน หรือ Empathy ที่จะทำให้บุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความรักและความเข้าใจในสถานที่ทำงานแห่งความสุขต่อไป
"เนื่องในวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรักที่จะถึงนี้ ไม่ว่าจะบอกรักใคร หรือมีใครบอกรัก ก็ไม่สุขใจเท่าได้บอกรักตัวเอง เพื่อที่จะได้มีสติอยู่กับตัวเอง และอยู่กับสังคมด้วยความรักและความเข้าใจ ไม่ว่า COVID-19 หรือวิกฤติใดๆ จะกลับมาอีกสักกี่ครั้ง ขอเพียงมี "สติ" จะทำให้เกิด "ปัญญา" ซึ่งจะทำให้สังคมอยู่ด้วยกันได้ด้วยความรักและความเข้าใจต่อไป" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th