กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดยกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กองความสามารถห้องปฏิบัติการและรับรองผลิตภัณฑ์ จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (proficiency testing, PT) โดยดำเนินการจัดส่งตัวอย่างอาหารสัตว์ ให้แก่ห้องปฏิบัติการที่ร่วมกิจกรรม เป็นห้องปฏิบัติการภายในประเทศ จำนวน 55 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบผลการวัด ในรายการ Minerals (Ca, Cu, Fe, Mg, Mn, K, Na, Zn and P) in feeding stuffs และส่งผลกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ วศ. ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการต่อไป
การดำเนินงานที่สำคัญ การทดสอบคุณภาพของแร่ธาตุในอาหารสัตว์ จะต้องได้รับการควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน ดังนั้นผลการทดสอบของห้องปฏิบัติการจึงมีความสำคัญ ซึ่งแต่ละห้องปฏิบัติอาจใช้วิธีวิเคราะห์ทดสอบที่เป็นมาตรฐาน โดยในธรรมชาติทุกเนื้อเยื่อของสัตว์และอาหารสัตว์จะประกอบด้วยสารอนินทรีย์ หรือแร่ธาตุต่างๆ ในปริมาณที่แตกต่างกัน กลุ่มของแร่ธาตุตามความจำเป็นที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเมตาโบลิซึมของร่างกาย สามารถแบ่งกลุ่มของแร่ธาตุออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่มแร่ธาตุที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับการสร้างโครงร่างของร่างกาย (structural elements) เช่น แคลเซียม (Ca) ฟอสฟอรัส (P) เป็นต้น 2. กลุ่มแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของของเหลวในร่างกายและเนื้อเยื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความสมดุลของกรดและด่างในร่างกาย รักษาความดันออสโมติก (Osmotic pressure) ของส่วน ต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น โซเดียม (Na) โพแตสเซียม (K) และคลอไรด์ (Cl) เป็นต้น 3. กลุ่มแร่ธาตุที่ทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์และฮอร์โมน เช่น ธาตุเหล็ก (Fe) ทองแดง (Cu) แมงกานีส (Mn) แมกนีเซียม (Mg) สังกะสี (Zn) เป็นต้น
ทั้งนี้ วศ. สนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำการทดสอบคุณภาพด้านอาหารและอาหารสัตว์ของภาคอุตสาหกรรม โดยจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาอาหาร รายการข้างต้น เพื่อประเมินสมรรถนะและพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการให้ได้ผลการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากล ถือเป็นการประกันคุณภาพผลการทดสอบอย่างหนึ่งของห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำ ถูกต้อง รวมถึงเป็นที่ยอมรับทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ส่งตัวอย่างมาทดสอบได้ต่อไป