เมื่อเร็วๆนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 2/2564 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร กระทรวงแรงงาน มี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้แทนสภาองค์การนายจ้าง ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนร่วมประชุม โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบิน
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพของผู้อยู่ในกำลังแรงงานของประเทศในทุกมิติ จึงสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการพัฒนาระบบนิเวศด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต รวมถึงการพัฒนาประเทศโดยมีคนเป็นศูนย์กลางตามยุทธศาสตร์ชาติ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการฝึกอบรมในพื้นที่ 76 จังหวัด รวมถึงการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve คณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพและคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้วโดยคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ จะเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการพัฒนากำลังคนของประเทศสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้การพัฒนากำลังคนของประเทศครอบคลุมทั้งมิติพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย
อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวต่อไปว่า แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคน ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบินในวันนี้ ที่ประชุมเห็นว่า เป็นอุตสาหกรรมสำคัญและเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในอนาคต รวมถึงประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จุดแข็งด้านการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าเกษตร รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม จึงเห็นควรใช้ความได้เปรียบดังกล่าวในการพัฒนาประเทศด้วยการกำหนดแนวทางการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมดังกล่าว
"การประชุมในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของการวางรากฐานการพัฒนาประเทศโดยมีคนเป็นศูนย์กลางที่จะทำให้แรงงานไทยมีศักยภาพและทักษะอาชีพสูงขึ้นสามารถพัฒนาตนเองตามพลวัตรของโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง กพร.ปช. มีองค์ประกอบมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมกันบูรณาการและวางแผนการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อความเป็นเอกภาพในการพัฒนาแรงงานต่อไป" อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย