สำนักพิมพ์วิช ร่วมกับ สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์ เปิดตัวหนังสือธรรมะ สุขทุกข์อยู่ที่เราคิด ถูกผิดอยู่ที่เราทำ "ทุกข์" อยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวก็ผ่านไป "ผิด" มากแค่ไหน เดี๋ยวก็แก้ไขได้
"สุขทุกข์อยู่ที่เราคิด ถูกผิดอยู่ที่เราทำ" หนังสือที่รวบรวมนิทานธรรมะ ผ่านเรื่องเล่าที่เกิดจากการเรียนรู้วิถีทางโลกและเข้าใจทางธรรม แฝงด้วยข้อคิดคติเตือนใจ โดย พระมหาอ้าย ธีรปัญโญ พระนักปราชญ์ เพื่อส่งต่อธรรมะที่ทรงคุณค่า เสริมประโยชน์ในการดำเนินชีวิตทางโลก และสร้างความสุขทางใจที่ได้เข้าถึงหลักแห่งธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเช่นนี้ "สติ ความคิด และการกระทำ" สำคัญที่สุด
ยิ่งใหญ่สูงเทียมฟ้า
ย่อมเกิดจาก "จริยา" ที่อ่อนน้อม
ตกต่ำจมกองดิน
ย่อมเกิดจาก "ดูหมิ่น" สิ่งใกล้ตัว
ตัวอย่างเรื่องเล่า เรื่อง เจอของจริงนิ่งเป็นใบ้
มีหนุ่มร่างกายกำยำผู้หนึ่ง จูงสุนัขเชื้อสายพันธุ์ทิเบตบริสุทธิ์ ราคาเป็นล้าน ออกมาเดินเล่น คราเจอผู้คนก็จะโอ้อวด สุนัขของตนดีอย่างโน้น เก่งอย่างนี้ คนที่ไม่มีกำลังจะไม่สามารถต้านแรงฉุดกระชากของมันได้
วันหนึ่ง ชายหนุ่มได้จูงสนัขออกไปเดินเล่นริมถนน พลันเห็นชายชราศีรษะล้านผู้หนึ่ง ข้างกายมีสุนัขเฒ่านั่งอยู่ตัวหนึ่ง ขนของมันหลุดร่วงแทบจะหมดแล้ว สุนัขพันธุ์ทิเบตของชายหนุ่ม เห่าหอนใส่สุนัขเฒ่าไม่หยุด แต่สุนัขเฒ่ากลับไม่สนใจไยดีต่อเสียงเห่าของสุนัขพันธุ์ทิเบตแม้แต่น้อยนิด
ชายหนุ่มเกิดอาการไม่พอใจขึ้นมาจึงพูดว่า "ตาเฒ่า สุนัขของคุณตัวใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม เป็นสุนัขพันธุ์อะไรล่ะ เรานำมันมาสู้กันสักตั้งดีไหม ? หากสุนัขของคุณแพ้ จ่ายให้ผม ๕๐๐ บาท หากสุนัขพันธุ์ทิเบตของผมแพ้ ผมจ่ายให้ ๒,๐๐๐ บาท"
ชายชราพูดว่า "ผมกำลังทุกข์ใจ ค่าอาหารเดือนหน้าของเพื่อนซี้เก่าแก่อยู่พอดี จะพนันก็ต้องพนันกันเยอะหน่อย หากสุนัขของผมแพ้ ผมจ่าย ๕๐,๐๐๐ บาท คุณแพ้ จ่ายให้ผม ๓๐,๐๐๐ บาท"
ชายหนุ่มอารมณ์เดือดขึ้นมาทันที "สุนัขของผมเป็นเชื้อสายพันธุ์ทิเบตบริสุทธิ์ อย่าหาว่าผมไม่บอก ตกลงผมรับคำท้า"
สุนัขทั้ง ๒ ตัว ต่อสู้กันไม่ถึง ๒ นาที สุนัขพันธุ์ทิเบตก็พ่ายแพ้ ไม่กล้าที่จะเห่าหอนอีก
ชายหนุ่มยื่นเงินให้ ๓๐,๐๐๐ บาท ท่าทางซึมเศร้าอย่างยิ่ง ถามว่า
"ท่านผู้เฒ่า สุนัขของท่านเป็นสุนัขอะไร ทำไมถึงได้ดุร้ายเช่นนี้"
ชายชรานับเงินไป พร้อมกับตอบว่า
"ผมก็ไม่รู้ว่าตอนนี้มันเป็นสุนัขอะไร ก่อนที่ขนมันยังไม่หลุดร่วง เรียกว่า "สิงโต"
ชายหนุ่มได้ยินเช่นนั้น ร้องไห้ก็ไม่ได้ หัวร่อก็ไม่ออก
ข้อคิดจากเรื่องนี้ : ท่านผู้รู้กล่าวถึงนิสัยของพาลชนไว้ว่า คนขี้โม้โอ้อวด ๑ คนเจ้าอิจฉาริษยา ๑ คนเห็นแก่ตัวละโมบโลภมาก ๑ คนขี้นินทาว่าร้าย ๑ คนหัวร้อนชอบเหวี่ยง ๑ หากพบเจอคนนิสัยพฤติกรรมเช่นนี้ ให้ห่างไกลไว้ อย่าคบหาสมาคมด้วยเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้น จะพลาดตกหลุมดำเข้าทางเขา แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ หนีไม่พ้น จำเป็นต้องเจอ ก็ควรตั้งสติรับมือ "นิ่งสงบสยบศัตรู" ไม่วู่วาม ไม่พล่ามตอบ ย่อมพบทางออกเป็นแน่แท้ ดังบทสรุปจบอันน่าเศร้าของชายหนุ่มขี้โม้โอ้อวดกับท่าทีชายชราผู้สงบเจนจบวิชาข้างต้นนั่นแล