ก.แรงงานจับมือเอกชน ใช้เดือนแห่งความรักเปิดเทรนคนโลจิสติกส์ มุ่งเป้าเบอร์ 1 อาเซียน
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ณ สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร นางสาวจิราภรณ์ ปุญญฤทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์รองรับธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ หลักสูตรธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 พร้อมมอบโอวาทให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน 100 คน
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดแผยว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกลไกที่ส่งผ่านมูลค่าของสินค้าและบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้รับหรือผู้บริโภค ดังนั้นระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง กพร. จึงใช้แนวทางประชารัฐของรัฐบาลและนโยบายของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมหลักของประเทศ สร้างความร่วมมือกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) เปิดฝึกอบรมหลักสูตรธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 2 รุ่น โดยมุ่งเน้นพัฒนาแรงงานใหม่ที่จบการศึกษาระดับป.ตรี สร้างโอกาสมีงานทำ มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ใช้โอกาสดีเริ่มฝึกในเดือนกุมภาพันธ์ จึงถือได้ว่าเป็นหลักสูตรที่จะส่งมอบความรักและความห่วงใยในเดือนแห่งความรัก
นางสาวจิราภรณ์ ปุญญฤทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวหลังจากเป็นประธานเปิดงานดังกล่าวว่า หลักสูตรธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศนั้น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจด้านโลจิสติกส์ทั้งเงื่อนไข เอกสาร และการประกันภัย พิธีการศุลกากร การขนส่งทางทะเลและทางอากาศ การบรรจุและขนถ่ายสินค้า การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โลจิสติกส์และซัพพลายเชน การตลาด เป็นต้น ระยะเวลาการฝึกอบรม 4 เดือน แบ่งเป็นภาคทฤษฎี 2 เดือน ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์- 31 มีนาคม 2564 ภาคปฏิบัติ 2 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 2564 ผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถเข้ามาทำงานในสายงานโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าทั้งทางเรือและทางอากาศ และด่านศุลกากร กับบริษัทในเครือของสมาคม TIFFA ที่ผ่านมาสามารถผลิตนักโลจิสติกส์และเข้าทำงานกับทางสมาคมจำนวนถึง 715 คน เป็นการพัฒนากำลังคนเข้าสู่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
"นอกจากการฝึกอบรมที่กล่าวมาแล้ว ทั้งสองหน่วยงานยังได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ แลกเปลี่ยนความรู้ วิทยาการ และเทคโนโลยี การดำเนินการทั้งหมดนี้ก็เพื่อพัฒนากำลังแรงงานในสาขานี้ให้มีงานทำ มีรายได้ และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโลจิติกส์ของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้" รองอธิบดีกพร. กล่าว