ออกกำลังกายช่วยลดเบาหวานได้จริงหรือ?
ได้ยินกันจนชินว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น เบาหวานขึ้นตา ไตเสื่อมสภาพ เท้าชา หรือประสาทส่วนปลายเสื่อม ซึ่งการควบคุมระดับน้ำตาลนั้นทำได้โดยการทานยา ควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย
วันนี้พี่หมอรามเลยจะมาชวน "ผู้เป็นเบาหวาน" มาออกกำลังกายกัน เพราะการออกกำลังกายที่เหมาะสมและสม่ำเสมอจะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้จริง และยังสามารถป้องกันผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ไม่ให้เข้าวงการเบาหวานอีกด้วยเพราะขณะที่เราออกกำลังกายนั้น ร่างกายต้องใช้พลังงานในการเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าปกติและแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดในร่างกายก็คือ "น้ำตาล" ถ้าเราออกกำลังกายให้เพียงพอร่างกายจะใช้น้ำตาลในเลือดเพื่อเปลี่ยนไปเป็นพลังงาน จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ ทั้งยังทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายไวต่ออินซูลินมากขึ้น พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือในปริมาณอินซูลินเท่าเดิมร่างกายสามารถใช้น้ำตาลได้มากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีในระยะยาว และสามารถที่จะลดปริมาณของยาที่ต้องทานหรือลดปริมาณอินซูลินที่ต้องฉีดได้นั่นเอง
เหตุผลที่ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ* ลดระดับน้ำตาลในเลือด และระดับน้ำตาลสะสม* ลดระดับความดันโลหิต และไขมันในเลือด* ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง* ลดความเครียด * ลดปริมาณไขมันในช่องท้องและใต้ผิวหนัง* ช่วยควบคุมน้ำหนักและลดน้ำหนักในคนอ้วน* เพิ่มความแข็งแรงของระบบหัวใจหลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจ* เพิ่มแรงบีบของหัวใจ สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ * เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
ที่สำคัญต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารด้วย เพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรออกกำลังกายจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และไม่ควรหักโหมออกกำลังกายในระยะสั้นๆ เพราะอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้
นอกจากนี้ ผู้เป็นโรคเบาหวานควรได้รับการคัดกรองความเสี่ยง ก่อนที่จะออกกำลังกายเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะปลอดภัยและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการออกกำลังกาย โดยผู้เชี่ยวชาญต้องทำการทดสอบสมรรถภาพทางกายสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวานตามนี้
1. ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ และข้อจำกัดทางร่างกายอื่นๆ 2. นำไปจัดโปรแกรมเฉพาะบุคคลที่มีความเหมาะสมและปลอดภัย