กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสิงห์บุรี
สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสิงห์บุรี ร่วมกับ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาด ย่อม (สพว.) เร่งพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ธุรกิจเอสเอ็มอี และสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ นำร่องจัดทำโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ หวังลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้สามารถแข่งขันในตลาดได้มากยิ่งขึ้น
นายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สายการตลาด เปิดเผยว่า สถาบันได้ร่วมมือกับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสิงห์บุรี จัดทำ โครงการพัฒนาระบบการบริหารสินค้าคงคลังและการขนส่ง (Logistics) เพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม และ SMEs ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดสระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี และชัยนาท ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารสินค้าคงคลังและการขนส่ง นำความรู้ที่ไปประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการของตนเองให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นสามารถลดต้นทุนและยกระดับการบริหารจัดการให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและ SMEs ต่อไป
สถาบันจะดำเนินการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 400 คน ที่ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้าน การบริหารสินค้าคงคลัง การขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน จนได้แผนธุรกิจจำนวน 15 สถานประกอบการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิผล และลดต้นทุนได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยมีทีมปรึกษาให้คำแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นโครงการระยะสั้นที่ต้องการเห็นผลที่ชัดเจนจึงมุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและ SMEs ทั้ง 15 สถานประกอบการ ตามปัญหาและความต้องการของแต่ละวิสาหกิจ ส่วนตัวชี้วัดความสำเร็จนั้นประเมินได้จากร้อยละที่เพิ่มขึ้นของรายได้จากสินค้าภาคอุตสาหกรรม
โดยเปรียบเทียบจากปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือ การใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนสินค้าคงคลังที่ลดลง เนื่องจากสามารถวางแผนและควบคุมการดำเนินงาน โดยเริ่มจากการจัดการวัตถุดิบ สินค้า และบริการ เคลื่อนย้ายจากต้นทางไปยังลูกค้าได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ รวมถึงประสิทธิภาพการวางแผนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย
“ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรายย่อย นับเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบการมักประสบปัญหาต่างๆ ทั้งปัจจัยภายในและต่างประเทศ ทำให้การประกอบธุรกิจได้รับผลกระทบ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร สาเหตุส่วนใหญ่คือขาดความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหาร ทำให้มีต้นทุนการผลิต การขนส่ง จัดเก็บเคลื่อนย้ายสินค้า การจำหน่ายและบริการที่สูงขึ้น โครงการความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการนำร่องสถานประกอบการตัวอย่าง ซึ่งจะทำให้เกิดการรวมกลุ่มโลจิสติกส์สัมพันธ์ อันเป็นประโยชน์ด้านข้อมูลข่าวสารและการบริหารที่ดีอีกด้วย” นายยุทธพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--