กรมอนามัย หนุนพ่อแม่ ดูแลลูกกินอาหารตามวัยตั้งแต่แรกเกิด - 5 ปี สูงดีสมส่วน พัฒนาการสมวัย

ข่าวทั่วไป Monday February 22, 2021 11:23 —ThaiPR.net

กรมอนามัย หนุนพ่อแม่ ดูแลลูกกินอาหารตามวัยตั้งแต่แรกเกิด - 5 ปี สูงดีสมส่วน พัฒนาการสมวัย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมรณรงค์ "อาหารตามวัยสำหรับเด็กแรกเกิด - 5 ปี" เพื่อสร้างความรอบรู้ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการส่งเสริมด้านโภชนาการสำหรับเด็กได้รับอาหารที่เหมาะสมกับวัย ในสัดส่วนและปริมาณเพียงพอเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ สูงดีสมส่วน และพัฒนาการสมวัย

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ "อาหารตามวัยสำหรับเด็กแรกเกิด - 5ปี" ณ บริเวณโถงอาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า องค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำให้เด็กกินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และให้กินนมแม่ต่อเนื่องเป็นเวลา อย่างน้อย 2 ปี เมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือนให้เลี้ยงด้วยนมแม่ควบคู่กับอาหารที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับอายุเด็ก และควรได้รับอาหารมื้อหลักและอาหารมื้อว่าง รวมวันละ 3 - 4 มื้อ ซึ่งจากรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 (MICS 6) พบทารกอายุ 0 - 5 เดือนกินนมแม่อย่างเดียวเพียงร้อยละ 14 (เป้าหมายอย่างต่ำร้อยละ 50) กินนมแม่เป็นหลักร้อยละ 40.7 เด็กอายุ 6 - 23 เดือน ได้รับอาหารที่มีความหลากหลายของอาหารที่ได้รับขั้นต่ำอย่างน้อย 5 จาก 8 กลุ่มอาหารร้อยละ 74.5 โดยปัญหาในการให้อาหารตามวัย ได้แก่ เริ่มให้เร็วเกินไป ส่วนประกอบไม่เหมาะสม หรือสารอาหารไม่เพียงพอ เป็นต้น นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการไม่เต็มศักยภาพส่วนหนึ่งเกิดจากเด็กได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม ตามวัย และอาจเกิดจากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็กขาดความรู้และทักษะการจัดอาหารตามวัยสำหรับเด็กแรกเกิด - 5 ปี ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กปฐมวัย จึงต้องได้รับการส่งเสริมความรู้ด้านโภชนาการและเสริมทักษะในการจัดอาหาร เพื่อให้เด็กได้กินอาหารที่เหมาะสมกับวัย มีสัดส่วนและปริมาณเพียงพอต่อการเจริญเติบโต

"อาหารตามวัยที่เหมาะสมสำหรับเด็กแรกเกิด - 5 ปี แบ่งได้ดังนี้ 1) ทารกตั้งแต่แรกเกิด - 6 เดือน ให้กินนมแม่ อย่างเดียว โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น เพราะนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของลูก 2) ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป การได้รับนมแม่อย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นต้องได้รับอาหารอื่นเพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและเสริมสร้างเซลล์สมองและสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยมีปริมาณและความหยาบของอาหารเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยให้กินอาหารบดละเอียด วันละ 1มื้อ ให้เป็นมื้อเช้า ควบคู่กับนมแม่ โดยไม่ใช้เครื่องปรุงรสทุกชนิด เพื่อฝึกให้เด็กได้เรียนรู้รสอาหารตามธรรมชาติ 3) ทารกอายุ 7 เดือน ให้กินอาหารบดหยาบวันละ 2 มื้อ เป็นมื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อว่าง 1 มื้อควบคู่กับนมแม่ 4) ทารกอายุ 8 เดือน เพิ่มความหยาบของอาหาร โดยสับละเอียด กินอาหารวันละ 2 มื้อหลัก เป็นมื้อเช้า มื้อกลางวันและมื้อว่าง 1 มื้อ ควบคู่กับนมแม่ 5) เด็กทารกอายุ 9-11 เดือน เพิ่มความหยาบของอาหารโดยหั่นชิ้นเล็ก เพื่อฝึก การเคี้ยวอาหารของลูก กินอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และมื้อว่าง 1 มื้อ ควบคู่กับนมแม่ 6) เด็กอายุ 1-3 ปี เป็นวัยที่ต้องได้รับพลังงานและสารอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อเสริมสร้างเซลล์สมอง ระบบประสาท กระดูก ฟัน กล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ ใน 1 วัน จึงต้องกินอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ และ 7) เด็กอายุ 4-5 ปี สามารถกินอาหารเองได้ ฝึกวินัยการกินให้เป็นเวลา ไม่กินจุกจิก กินอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ เพื่อลูกเติบโตอย่างเต็มศักยภาพและพร้อมเรียนรู้ในกิจกรรมต่าง ๆ" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ