นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) แถลงผลการดำเนินงาน ปตท. ในไตรมาส 4 ปี 2563 เริ่มฟื้นตัว โดย ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 71,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,149 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.1 และกำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2563 จำนวน 13,147 ล้านบาท ลดลง 973 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.9 จากไตรมาสก่อนหน้า สำหรับผลการดำเนินงานของปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 225,672 ล้านบาท ลดลง 63,300 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.9 มีกำไรสุทธิจำนวน 37,766 ล้านบาท ลดลง 55,185 ล้านบาท หรือร้อยละ 59.4 จากปี 2562 ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจให้ยังคงมีความเข้มแข็ง เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยล่าสุด คณะกรรมการ ปตท. ในการประชุม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 1.00 บาท แบ่งเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการ 6 เดือนแรกในอัตราหุ้นละ 0.18 บาท และ 6 เดือนหลัง อีก 0.82 บาท ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้ให้รัฐ ทั้งในรูปเงินปันผลและภาษีเงินได้ในปี 2563 จำนวน 36,535 ล้านบาท หากรวมนับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนประมาณ 9.9 แสนล้านบาท
การดำเนินธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2568) กลุ่ม ปตท. เตรียมแผนลงทุนในวงเงินรวม 850,573 ล้านบาท (ไม่รวมโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการลงทุนหรือแสวงหาโอกาสในการลงทุน) และจัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จำนวน 804,202 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง สร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาเศรษฐกิจไทย ทั้งในธุรกิจหลักของกลุ่มโรงกลั่น ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี มุ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการรุกธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต รวมถึงเชื่อมต่อคุณค่าจากแหล่งผลิตปิโตรเลียมสู่ประชาชน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศธุรกิจ (Ecosystem) ตั้งแต่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และ ก๊าซธรรมชาติ สู่ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จนถึงธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมเดินหน้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ ได้แก่ โครงการ LNG Terminal 2 (หนองแฟบ) โครงการโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 7 โครงการท่อก๊าซฯ บนบกเส้นที่ 5 รวมถึงการเดินหน้าลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ผ่าน บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) โดยมีเป้าหมายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 4.3 GW ภายในปี 2568
นอกเหนือจากนวัตกรรมด้านพลังงาน กลุ่ม ปตท. ยังเตรียมพร้อมก้าวสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยในอนาคต เช่น การจัดตั้งบริษัท AI and Robotics Venture (ARV) ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) รวมถึงการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจ Life Science ใน 4 กลุ่มธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ 1. ธุรกิจยา 2. ธุรกิจอาหารและโภชนาการ 3. ธุรกิจอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ 4. ธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อให้เป็น New S-Curve ของกลุ่ม ปตท. และประเทศไทย ทั้งยังส่งเสริมสาธารณสุขคนไทยให้มั่นคง
ในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม กลุ่ม ปตท. ได้ร่วมกันยกระดับการพัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการกำหนดค่าเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่ม ปตท. ร้อยละ 27 เทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานตามปกติ ปี 2573 รวมถึงการสานต่อโครงการเพื่อสังคมต่างๆ โดยจะมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าร่วม เสริมสร้างความเข้มแข็งทางสังคม โดยดำเนินโครงการ Restart Thailand สนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ และทักษะอาชีพ ด้วยการจ้างแรงงาน พนักงาน และนักศึกษาระดับ ปวช.- ปริญญาตรีในทุกภูมิภาค กว่า 25,000 อัตรา ซึ่งในส่วนของ ปตท. ได้มีการฝึกอบรมนักศึกษาจบใหม่ เพื่อให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ในโครงการ SMART Farming สนับสนุนชุมชนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรสู่วิถีใหม่ และ SMART Marketing เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนและส่งเสริมการใช้ช่องทางการตลาดออนไลน์และ E-commerce เป็นต้น