สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ แนะผู้บริโภคซื้อหยก หรือเครื่องประดับหยกออนไลน์ ควรเลือกซื้อที่มีใบรับรองคุณภาพอัญมณีจากห้องปฏิบัติการชั้นนำเท่านั้น
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน GIT เปิดเผยว่า หยก เป็นอัญมณีที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากสวรรค์ เพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมโชคลาภ ความร่ำรวย ยังช่วยในเรื่องสุขภาพเพื่อป้องกันเรื่องร้าย อุบัติเหตุ และ อุบัติภัยต่างๆ นอกจากนี้ หยก ยังเป็นตัวแทนของความสงบสุข ความเมตตากรุณา ความมั่นคง และ ความเป็นอมตะอีกด้วย
หยกที่มีคุณภาพสูง ในปัจจุบันหาได้ยากและมีราคาสูง โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีการซื้อขายหยกทางช่องทางออนไลน์ทั้ง social medial ตลาดออนไลน์ (e-marketplace) รวมทั้งการขายผ่านรายการโทรทัศน์ TV-Direct ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งจากการสังเกตการณ์ สถาบันพบว่า ผู้ขายมีการใช้ชื่อการค้า หรือการให้ข้อมูลสินค้าที่ไม่ครบถ้วน เพื่อจูงใจผู้ซื้อ ซึ่งเข้าข่ายการสำแดงข้อมูลสินค้าไม่ครบถ้วน ทั้งชนิดของหยก และประเภทของการปรับปรุงคุณภาพสีหยก ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ เช่น Imperial Jade ซึ่งเป็นหยกสีเขียวสด หาได้ยาก และมีมูลค่าในตลาดสูงมาก แต่กลับพบว่า มีการนำมาขายออนไลน์ในราคาเพียงหลักร้อย หรือ หลักพันต้นๆ เท่านั้น
สำหรับ "หยก" โดยมากผู้บริโภคจะรู้จักชื่อ "หยกพม่า" และ "หยกจีน" ซึ่งความจริงแล้วในปัจจุบันเราจะแบ่งหยก ออกเป็น 2 ประเภทคือ Fei Cui ซึ่งหมายถึงหยกที่มีแร่ Jedeite, Omohacite และ Kosmochlor หรือ หยกพม่า และ He Tian Yu ซึ่งหมายถึงหยก Nephrite
โดยทั่วไป Fei Cui ที่พบนั้นจะมีสีเขียว ขาว ม่วง ส้ม น้ำตาล และ ใส บางสีจะมีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น หยก Fei Cui ที่มีสีม่วง เรียกว่า Lavender Jade หยก Fei Cui ใสไม่มีสี เรียกว่า Ice Jade และ หากกล่าวถึงหยก Fei Cui ที่ถือว่าสวยที่สุดเรียกว่า Imperial Jade ซึ่งเป็นสีเขียวสด เนื้อสะอาด เนื้อหยกจะมีความโปร่งแสง ระดับโปร่งใส ซึ่งหยกที่จะเรียกได้ว่า Imperial Jade จะต้องผ่านมาตรฐานการจัดระดับคุณภาพหยก Fei cui ที่จัดทำโดยหน่วยงานของทางรัฐบาลจีน ซึ่งค่อนข้างจะหาได้ยาก
สำหรับหยกที่จำหน่ายทั่วไป จะผ่านการปรับปรุงคุณภาพสีและความใสในเนื้อหยก โดยคุณภาพของหยกจะแบ่งเป็น หยก A-Jade คือ หยกที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพใดๆ แต่หากมีการนำสารจำพวกโพลิเมอร์อัดเข้าไปในรอยแตก จะเรียกกันว่า หยก B-Jade และหากมีการย้อมสี จะเรียกว่า หยก C-Jade ซึ่งการตรวจสอบด้วยตาเปล่านั้นทำได้ยาก ต้องใช้เครื่องมือขึ้นสูงในการตรวจสอบ เช่น FTIR ซึ่งเป็นเครื่องวิเคราะห์ ที่สามารถแยกแยะว่าหยกเม็ดใดมีโพลิเมอร์อยู่ภายใน
ทั้งนี้ GIT ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อัญมณีและเครื่องประดับผ่านการตรวจสอบและได้ใบรับรองจาก GIT ช่วยสร้างความมั่นใจผู้บริโภคว่าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ และถูกต้อง นายสุเมธ กล่าวเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน GIT ได้ดำเนินโครงการ "ซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence (BWC)" เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ที่ซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทย โดย GIT มอบตราสัญลักษณ์ BWC แก่ร้านค้าและบริษัทที่ประกอบกิจการอัญมณีและเครื่องประดับ ที่จำหน่ายสินค้าคุณภาพ มีใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับจาก GIT
"ผู้ซื้อที่ต้องการสินค้าและเครื่องประดับมาตรฐานสามารถซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น ด้วยการมองหาสติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ BWC หน้าร้านค้า และเลือกซื้อสินค้าที่มีป้าย BWC ติดอยู่ โดยปัจจุบันมีร้านค้าและบริษัทร่วมโครงการ BWC กว่า 300 ราย ทั่วประเทศ" นายสุเมธ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ซื้อด้วยความมั่นใจ Buy With Confidence (BWC) ได้ที่: http://bwc.git.or.th