กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งจ่ายเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนให้แก่สถานประกอบกิจการกว่า 6 ล้านบาท พบ สปก.จำนวน 173 แห่ง จัดฝึกอบรมแก่ลูกจ้างเกินกว่าร้อยละ 70
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ภายใต้ การนำของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กพร.ดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ออกมาตรการจูงใจให้สถานประกอบกิจการดำเนินการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของตนเองให้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด และมาตรการจูงใจ อีกหลายกรณี ส่งผลให้มีสถานประกอบกิจการได้เงินช่วยเหลืออุดหนุนดังกล่าวไปแล้วกว่า 276 แห่ง เป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564)อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2564 กพร.ได้จัดสรรเงินงบประมาณจำนวน 34 ล้านบาทจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนให้แก่ สถานประกอบกิจการในหลายกรณี เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพลูกจ้างของตนเองให้มากขึ้น
ปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการ ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ได้รับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนดังกล่าวแล้วจำนวนทั้งสิ้น 276 แห่ง เป็นเงิน 6,332,194.95 บาท โดยจำนวนเงินที่จ่ายไปเป็นเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนให้แก่ สถานประกอบกิจการที่จัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างเกินกว่าร้อยละ 70 มากที่สุด รองลงมาเป็นการจ่ายเงินให้แก่ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง และผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามลำดับ การจ่ายเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนดังกล่าว มีหลายกรณี อาทิ สถานประกอบกิจการ (สปก.) ที่จัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างเกินกว่าร้อยละ 70 ของลูกจ้างทั้งหมด จะได้รับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนส่วนที่เกินนั้น 200 บาทต่อคน หรือกรณีที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเมื่อผ่านการทดสอบแล้วสปก.จ่ายค่าจ้างในอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุน 1,000 บาทต่อคน แต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท อีกกรณีคือสปก.จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของตนเอง แล้วนำไปใช้ในการทดสอบลูกจ้างของตนเอง มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนสาขาละ 10,000 บาท"เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนที่ได้จ่ายให้ สปก.นั้น สามารถช่วยสปก.ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อนำไปใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจในช่วงวิกฤตนี้ ดังนั้น สปก.ที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว
สามารถติดต่อขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2643 6039 หรือติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.dsd.go.th/sdpaa" อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย